ไม้พุ่ม สูงได้ถึง 2.5 ม. กิ่งเป็นเหลี่ยม มีขนหยาบ ใบเรียงเวียน รูปรี รูปขอบขนาน หรือแกมรูปไข่กลับ ยาว 2–6 ซม. ปลายมนหรือแหลม แผ่นใบหนา ด้านล่างมีนวล มีขนสั้นแข็ง ขอบจักฟันเลื่อย เส้นแขนงใบข้างละ 2–3 เส้น ช่อดอกแบบช่อกระจะ ยาว 2–4 ซม. ดอกจำนวนมาก มีขนสั้นนุ่ม ใบประดับรูปไข่ ยาว 4–5 มม. ขอบมีขนครุย ก้านดอกยาว 3–4 มม. ใบประดับย่อย 2 ใบ ยาวประมาณ 5 มม. ปลายมีติ่งแหลม กลีบเลี้ยงสีชมพู มี 5 กลีบ เชื่อมติดกันที่โคน กลีบรูปสามเหลี่ยม ยาวประมาณ 3 มม. ขอบมีขนครุย ปลายเป็นติ่งแหลม ดอกสีขาว รูปคนโท ยาว 5–6 มม. ปลายจักรูปสามเหลี่ยมขนาดเล็ก เกสรเพศผู้ 10 อัน ไม่ยื่นพ้นปากหลอดกลีบ ก้านชูอับเรณูสั้น แบน มีขนครุย อับเรณูมีรูเปิดที่ปลาย มีรยางค์แหลม 2 อัน รังไข่และก้านเกสรเพศเมียมีขน ผลแห้งแตก มีกลีบเลี้ยงอวบหนาหุ้ม สุกสีม่วงมีนวล เส้นผ่านศูนย์กลาง 6–7 มม. เมล็ดขนาดเล็กจำนวนมาก
พบที่จีนตอนใต้และภาคเหนือของไทยที่จังหวัดเชียงใหม่ ขึ้นหนาแน่นตามชายป่าดิบเขาหรือที่โล่ง โดยเฉพาะที่ดอยอินทนนท์ ความสูง 1000–2500 เมตร เคยเข้าใจว่าเป็นชนิด G. notabilis J.Anthony ที่พบเฉพาะจีนตอนใต้ ช่อดอกมีดอกน้อยกว่า และก้านดอกยาวกว่า
สกุล Gaultheria Kalm ex L. มีประมาณ 135 ชนิด พบในอเมริกา เอเชีย และออสเตรเลีย ในไทยมี 2 ชนิด ชนิด G. leucocarpa Blume var. yunnannensis (Franch.) T.Z.Hsu & R.C.Fang พบที่พม่า จีนตอนใต้ และภาคเหนือของไทยที่เชียงใหม่ ดอกรูประฆัง กิ่งและใบเกลี้ยง ชื่อสกุลตั้งตามนักพฤกษศาสตร์ชาวฝรั่งเศส Jean François Gaultier (1708–1756)
|