สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

พวงระย้า

พวงระย้า
วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560

Amphicarpaea ferruginea Benth.

Fabaceae

ไม้ล้มลุกเถา มีขนยาวสีน้ำตาลแดงตามกิ่ง แผ่นใบ ก้านใบ ช่อดอก ใบประดับ กลีบเลี้ยง และผล หูใบรูปไข่ ยาว 6–8 มม. ใบประกอบมี 3 ใบย่อย ก้านใบยาวได้ถึง 10 ซม. หูใบย่อยรูปแถบ ยาว 2–5 มม. ใบย่อยรูปรีหรือรูปไข่ ยาว 2–8 ซม. ใบคู่ข้างเบี้ยวเล็กน้อย เส้นโคนใบข้างละ 1 เส้น ปลายมีติ่งแหลม โคนกลม ก้านใบย่อยยาว 2–5 มม. ช่อดอกแบบช่อกระจะ ยาว 3–7 ซม. แยกแขนงสั้น ๆ แต่ละช่อย่อยมี 2–5 ดอก ใบประดับรูปรี เรียงซ้อนเหลื่อม ไม่มีใบประดับย่อย ก้านดอกยาว 2–4 มม. กลีบเลี้ยงเป็นหลอด ยาว 6–8 มม. ปลายแยก 5 แฉก รูปสามเหลี่ยมขนาดไม่เท่ากัน ปลายแหลมยาว ดอกสีม่วง ยาว 1.5–2 ซม. มีก้านกลีบ กลีบกลางรูปไข่กลับ กลีบปีกรูปรี โคนเป็นติ่ง กลีบคู่ล่างคล้ายกลีบปีก รังไข่มีก้าน มีแผ่นคล้ายจานฐานดอกที่โคน เกสรเพศเมียเกลี้ยง ยอดเกสรเป็นตุ่ม ฝักมี 2 แบบ ฝักบนต้นรูปรี แบนเล็กน้อย ยาว 2–3 ซม. ปลายมีจะงอย มี 1–3 เมล็ด รูปคล้ายไต ยาวประมาณ 5 มม. ฝักใต้ดินรูปกลม ๆ มีเมล็ดเดียว

พบที่อินเดีย จีนตอนใต้ พม่า และภาคเหนือของไทยที่ดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ ขึ้นตามชายป่าดิบเขา ความสูง 1800–2200 เมตร เข้าใจว่าเป็น var. bracteosa (Prain) H. Ohashi & Tateishi

สกุล Amphicarpaea Elliott ex Nutt. อยู่ภายใต้วงศ์ย่อย Faboideae เผ่า Phaseoleae มีประมาณ 5 ชนิด พบในอเมริกาเหนือ แอฟริกา และเอเชีย ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก “amphi” ทั้งสองด้าน และ “karpos” ผล หมายถึงลักษณะของผลที่มี 2 แบบ

พวงระย้า: ใบประกอบมี 3 ใบย่อย เส้นโคนใบข้างละ 1 เส้น ช่อดอกแบบช่อกระจะ กลีบเลี้ยงเป็นหลอด ดอกสีม่วง ใบประดับเรียงซ้อนเหลื่อม (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)



เอกสารอ้างอิง

Sa, R. and M.G. Gilbert. (2010). Fabaceae. In Flora of China Vol. 10: 249.