สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

พลับพลา

พลับพลา  สกุล
วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560

Microcos L.

Malvaceae

ไม้พุ่มหรือไม้ต้น หูใบขนาดเล็ก ร่วงเร็ว ใบเรียงเวียนหรือเรียงสลับระนาบเดียว เส้นโคนใบข้างละ 1 เส้น ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนงตามซอกใบหรือปลายกิ่ง ดอกสมบูรณ์เพศ ใบประดับเชื่อมติดกัน ส่วนมากร่วงเร็ว กลีบเลี้ยง 5 กลีบ แยกจรดโคน เรียงจรดกันในตาดอก กลีบดอก 5 กลีบ ขนาดเล็กกว่ากลีบเลี้ยงหรือไม่มี มีต่อมที่โคน เกสรเพศผู้จำนวนมาก แยกกัน ติดบนส่วนปลายก้านชูเกสรร่วม รังไข่เหนือวงกลีบ ไร้ก้าน ส่วนมากมี 3 ช่อง ก้านเกสรเพศเมียเรียวยาวรูปลิ่มแคบ ผลผนังชั้นในแข็ง ส่วนมากมี 1–3 ไพรีนที่เจริญ

สกุล Microcosเคยอยู่ภายใต้วงศ์ Tiliaceae ปัจจุบันอยู่วงศ์ย่อย Grewioideae มีประมาณ 80 ชนิด ส่วนใหญ่พบในแอฟริกา ในไทยมีประมาณ 5 ชนิด ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก “mikros” ขนาดเล็ก และ “kos” ที่คุมขัง หมายถึงใบที่ใช้ห่ออาหารที่มีขนาดเล็ก


พลับพลา
วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560

Microcos tomentosa Sm.

Malvaceae

ไม้ต้น สูงได้ถึง 15 ม. มีขนกระจุกรูปดาวสั้นนุ่มตามกิ่งอ่อน ก้านใบ แผ่นใบ ช่อดอก ใบประดับ กลีบเลี้ยง และผล ใบรูปไข่กลับหรือแกมรูปขอบขนาน ยาว 8–22 ซม. ปลายแหลม โคนมนหรือกลม ขอบจักฟันเลื่อย เส้นแขนงใบข้างละ 4–6 เส้น เส้นแขนงใบย่อยที่สามแบบขั้นบันได ก้านใบยาว 0.5–2.5 ซม. ช่อดอกยาว 3–15 ซม. ใบประดับรูปใบหอก ยาวประมาณ 5 มม. กลีบเลี้ยงรูปใบพาย ยาว 5–8 มม. กลีบดอกรูปไข่ ยาว 2–3 มม. ร่วงเร็ว ก้านชูอับเรณูยาวประมาณ 5 มม. รังไข่มีขน ผลรูปรีกว้าง ยาว 1–1.5 ซม. เปลือกหนา

พบที่อินเดีย พม่า ภูมิภาคอินโดจีน คาบสมุทรมลายู บอร์เนียว สุมาตรา ชวา และฟิลิปปินส์ ในไทยพบทุกภาค คล้ายกับ ลาย M. paniculata L. ที่ใบเกลี้ยงหรือมีขนตามเส้นแขนงใบด้านล่าง ขอบใบส่วนมากเรียบ และรังไข่เกลี้ยง

ชื่ออื่น   ก้อมส้ม (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ); กะปกกะปู (ภาคเหนือ); ขี้เถ้า (ภาคกลาง); ค่อม (ภาคเหนือ); คอมเกลี้ยง (ภาคตะวันออก); คอมส้ม (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ); จือมือแก (มาเลย์-ภาคใต้); น้ำลายควาย (ภาคใต้); พลองส้ม (ภาคตะวันออก); ,b>พลับพลา (ภาคกลาง); พลา (ภาคเหนือ); พลาขาว, พลาลาย (ภาคใต้); มลาย (ภาคตะวันออกเฉียงใต้); ลาย, สากกะเบือดง, สากกะเบือละว้า, หมากหอม (ภาคเหนือ)

พลับพลา: มีขนกระจายตามแผ่นใบ ช่อดอก ผล ขอบใบจักฟันเลื่อย (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)

พลับพลาขี้เต่า
วันที่ 17 สิงหาคม 2559

Mallotus philippensis (Lam.) Müll.Arg.

Euphorbiaceae

ดูที่ คำแสด

พลับพลาส้ม
วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560

Microcos laurifolia (Hook.f. ex Mast.) Burret

Malvaceae

ไม้ต้น สูงได้ถึง 20 ม. ใบรูปขอบขนาน ยาว 15–20 ซม. ปลายแหลมหรือแหลมยาว โคนมน ขอบเรียบหรือช่วงปลายจักฟันเลื่อยเล็กน้อย เส้นโคนเรียงจรดปลายใบ เส้นแขนงใบย่อยไม่ชัดเจนหรือมีเฉพาะช่วงปลายใบ เส้นแขนงใบย่อยชั้นที่สามแบบขั้นบันได ก้านใบยาว 1–1.5 ซม. ช่อดอกยาว 6–10 ซม. ใบประดับขนาดเล็ก ก้านดอกสั้น กลีบเลี้ยงรูปใบพาย ยาว 4–5 มม. กลีบดอกรูปไข่แกมสามเหลี่ยม ยาวประมาณ 2 มม. ร่วงเร็ว ก้านชูอับเรณูยาว 2–2.5 มม. รังไข่เกลี้ยง ผลรูปรีหรือรูปลูกแพร์ ยาวประมาณ 1.5 ซม. เปลือกหนา สุกสีเหลือง ก้านเทียมยาว 5–8 มม.

พบที่คาบสมุทรมลายู สุมาตรา บอร์เนียว และภาคใต้ของไทย ขึ้นตามป่าดิบชื้น ความสูงถึงประมาณ 300 เมตร

ชื่อพ้อง  Grewia laurifolia Hook.f. ex Mast.

พลับพลาส้ม: ขอบใบเรียบหรือจักฟันเลื่อยเล็กน้อยช่วงปลายใบ ผลรูปลูกแพร์ สุกสีเหลือง (ภาพ: อรุณ สินบำรุง)



เอกสารอ้างอิง

Chung, R.C.K. and E. Soepadmo. (2011). Taxonomic revision of the genus Microcos (Malvaceae-Grewioideae) in peninsular Malaysia and Singapore. Blumea 56: 295–297.

Phengklai, C. (1993). Tiliaceae. In Flora of Thailand Vol. 6(1): 34.