ไม้ต้น สูงได้ถึง 40 ม. แยกเพศต่างต้น ใบรูปแถบ ใบบนกิ่งเรียงห่าง ใบช่วงปลายกิ่งเรียงในระนาบเดียว กว้างตรงกลาง ยาว 0.8–1.5 ซม. ใบบนก้านช่อรูปเข็ม เรียงไม่แนบติดกับก้าน โคนเพศผู้ออกตามซอกใบ ยาวประมาณ 1 ซม. กาบคล้ายเกล็ด (microsporophylls) ยาว 2–4 มม. เรียงซ้อนกัน โคนเพศเมียออกเดี่ยว ๆ ที่ปลายกิ่ง มีกาบประดับ (megasporophylls) อวบน้ำรองรับเมล็ดเปลือย ยาว 3–4 มม. เมล็ดรูปรี ยาว 5–6 มม. เยื่อหุ้มสุกสีแดง
พบที่จีนตอนใต้ ไห่หนาน พม่า ภูมิภาคอินโดจีน ภูมิภาคมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ นิวกินี และฟิจิ ในไทยพบทางภาคเหนือที่พิษณุโลก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่เลย เพชรบูรณ์ ภาคตะวันออกที่นครราชสีมา ภาคตะวันออกเฉียงใต้ที่ตราด และภาคใต้ที่ยะลา ขึ้นตามป่าดิบเขา ความสูง 700–1500 เมตร
สกุล Dacrycarpus (Endl.) de Laub. พืชเมล็ดเปลือย มี 9 ชนิด พบในเอเชีย และฟิจิ ในไทยมีชนิดเดียว แยกเป็น var. robustus de Laub. พบที่บอร์เนียว ฟิลิปปินส์ โมลุกกะ และนิวกินี และ var. curvulus (Miq.) de Laub. พบที่สุมาตราตอนบนและชวาตอนกลาง ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก “dakryon” น้ำตา และ “carpos” ผล หมายถึงเมล็ดเปลือยรูปรีคล้ายหยดน้ำตา
|
ชื่อพ้อง Podocarpus imbricatus Blume, Dacrycarpus imbricatus (Blume) de Laub. var. patulus de Laub.
|
|
ชื่อสามัญ Java Podocarpus, Malayan yellowwood
|
ชื่ออื่น พญามะขามป้อม (เลย); พญาไม้ (จันทบุรี, ตราด); มะขามป้อมดง, มะขามป้อมแดง (นครราชสีมา); สะรุล (ตราด); สาสน (นครราชสีมา); หมากหิ้ง (เลย)
|
|
พญามะขามป้อม: ใบรูปแถบ ช่วงปลายกิ่งเรียงในระนาบเดียว ใบบนก้านช่อรูปเข็ม โคนเพศเมียออกเดี่ยว ๆ ที่ปลายกิ่ง มีกาบประดับอวบน้ำรองรับ (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา, ปรีชา การะเกตุ)
|
|