ไม้พุ่ม สูงได้ถึง 1 ม. ต้นเป็นเหลี่ยม มีขนตามใบประดับ กลีบเลี้ยงและกลีบดอกด้านนอก และผล ใบเรียงตรงข้าม รูปใบหอกหรือแกมรูปไข่ ยาว 5–11 ซม. ปลายมีติ่งแหลม โคนเบี้ยว ก้านใบยาวได้ถึง 2 ซม. ช่อดอกแบบช่อกระจุก ยาวประมาณ 1.5 ซม. ใบประดับรูปแถบ ยาวประมาณ 8 มม. ก้านดอกสั้น กลีบเลี้ยง 5 กลีบ รูปแถบ ยาว 0.8–1.3 ซม. ปลายแหลมยาว ดอกตั้งขึ้น สีแดง ปลายมีริ้วสีเหลืองอมเขียวด้านใน กลีบรูปปากเปิดคล้ายพลิกกลับ ยาว 3–4 ซม. โคนด้านในมีขน กลีบล่างรูปรี ยาว 1–2 ซม. ปลายแยก 3 แฉก เรียงซ้อนเหลื่อม ยาว 3–5 มม. กลีบบน 2 กลีบ รูปสามเหลี่ยมแคบ ยาว 1–2 ซม. ปลายเว้า เกสรเพศผู้ 2 อัน ติดที่ปากหลอดกลีบดอก ก้านชูอับเรณูยาว 1–1.5 ซม. อับเรณูมีช่องเดียว ยาว 4–5 มม. รังไข่เกลี้ยง ก้านเกสรเพศเมียยาว 3–3.5 ซม. ยอดเกสรจัก 2 พู ผลแห้งแตก รูปกระบอง ยาวประมาณ 2 ซม. มีขนยาว มี 4 เมล็ด ผิวเป็นร่างแห
พบที่จีน ภูมิภาคอินโดจีน คาบสมุทรมลายู ชวา ในไทยส่วนมากพบทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ มีสรรพคุณแก้ไข้ แผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก แมลงสัตว์กัดต่อย
สกุล Clinacanthus Nees มี 2 ชนิด พบเฉพาะในเอเชียเขตร้อน ชนิด C. spirei Benoist พบที่ลาว ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก “kline” เอนหรือเตียง และ “akantha” พืชมีหนาม หมายถึงพืชที่มีหนามเอน ตามลักษณะปลายใบที่คล้ายหนาม
|
ชื่อพ้อง Justicia nutans Burm.f., Clinacanthus siamensis Bremek.
|
|
ชื่อสามัญ Sabah snake grass
|
ชื่ออื่น ผักมันไก่, ผักลิ้นเขียด (เชียงใหม่); พญาปล้องคำ (ลำปาง); พญาปล้องดำ, พญาปล้องทอง (ภาคกลาง); พญายอ (ทั่วไป); โพะโซ่จาง (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน); ลิ้นงูเห่า (จันทบุรี); เสลดพังพอนตัวเมีย (พิษณุโลก)
|
|
พญาปล้องทอง: ช่อดอกแบบช่อกระจุกสั้น ๆ สีแดง ปลายมีริ้วสีเหลืองอมเขียวด้านใน กลีบรูปปากเปิดคล้ายพลิกกลับ กลีบล่างปลายแยก 3 แฉก กลีบบน 2 กลีบ รูปสามเหลี่ยมแคบ (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)
|
|