สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

ฝนแสนห่า

ฝนแสนห่า
วันที่ 30 มกราคม 2560

Argyreia capitiformis (Poir.) Ooststr.

Convolvulaceae

ไม้เถาล้มลุก มีขนหยาบตามลำต้น แผ่นใบ ใบประดับ ช่อดอก กลีบเลี้ยงและกลีบดอกด้านนอก ใบรูปไข่ รูปขอบขนาน หรือเกือบกลม ยาว 8–18 ซม. ปลายแหลมหรือแหลมยาว โคนรูปหัวใจ ก้านช่อดอกยาว 6–30 ซม. ใบประดับรูปรีหรือรูปขอบขนาน ยาว 1.5–2.5 ซม. ติดทน ก้านดอกสั้นมากหรือไร้ก้าน กลีบเลี้ยงรูปขอบขนาน ปลายแหลมยาว 3 กลีบนอกยาว 1.5–1.7 ซม. กลีบคู่ในยาว 1–1.2 ซม. ดอกสีชมพูหรือม่วงอ่อน รูปปากแตร ยาว 4.5–5.5 ซม. เกสรเพศผู้ไม่ยื่นพ้นปากหลอดกลีบดอก ก้านชูอับเรณูยาวประมาณ 1.5 ซม. โคนมีต่อมขนยาว รังไข่เกลี้ยง ก้านเกสรเพศเมียยาวประมาณ 3 ซม. ไม่ยื่นพ้นปากหลอดกลีบดอก ผลกลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 8 มม. สุกสีส้มแดง ส่วนมากมี 4 เมล็ด รูปไข่แกมสามเหลี่ยม ยาวประมาณ 7 มม. (ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ เครือพุงหมู, สกุล)

พบที่อินเดีย จีน พม่า ภูมิภาคอินโดจีนและมาเลเซีย ในไทยพบทุกภาค ขึ้นตามชายป่า ที่โล่ง ความสูงถึงประมาณ 1400 เมตร ใบใช้ประคบแผลฟกช้ำ

ชื่อพ้อง  Convolvulus capitiformis Poir.

ชื่ออื่น   กระดึงช้าง (ภาคกลาง); จิงจ้อหลวง (ประจวบคีรีขันธ์); ดูลาน (ยะลา); ฝนแสนห่า (จันทบุรี); ย่านขน (สงขลา); ลูกช้าง (กาญจนบุรี); เอ็นขน (สุราษฎร์ธานี); เอ็นน้ำนม (ตรัง)

ฝนแสนห่า: มีขนหยาบตามลำต้น แผ่นใบ ใบประดับ ช่อดอก กลีบเลี้ยงและกลีบดอกด้านนอก เกสรเพศผู้และเพศเมียไม่ยื่นพ้นปากหลอดกลีบดอก (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)

ฝนแสนห่า
วันที่ 26 สิงหาคม 2559

Argyreia obtecta (Choisy) C.B.Clarke

Convolvulaceae

ดูที่ เครือพูเงิน



เอกสารอ้างอิง

Staples, G. and P. Traiperm. (2010). Convolvulaceae (Argyreia). In Flora of Thailand Vol. 10(3): 341–343.