| | Houttuynia cordata Thunb. |
|
ไม้ล้มลุก สูงได้ถึง 50 ซม. เหง้าทอดเลื้อย ส่วนต่าง ๆ มีกลิ่น มีรากตามข้อ หูใบคล้ายกาบ รูปใบหอก ยาวได้ถึง 2 ซม. โคนโอบรอบลำต้น ขอบมีขนครุย ใบเรียงเวียน รูปไข่กว้างคล้ายรูปหัวใจ ยาว 2–10 ซม. เส้นโคนใบ 5–7 เส้น ก้านใบยาว 1.5–4 ซม. ใบประดับคล้ายกลีบดอก 4 ใบ รูปขอบขนาน ยาว 1–1.5 ซม. หรือมีอีก 2–4 กลีบคล้ายรูปแถบ ช่อดอกแบบช่อเชิงลด ดูคล้ายเป็นดอกเดี่ยว ยาว 0.5–2.5 ซม. ก้านช่อยาว 1.5–3 ซม. ดอกย่อยไม่มีกลีบเลี้ยงและกลีบดอก ใบประดับย่อยรูปแถบขนาดเล็ก เกสรเพศผู้ 3 อัน ติดที่โคนรังไข่ ก้านชูอับเรณูยาวประมาณ 6 มม. รังไข่กึ่งใต้วงใบประดับ ก้านเกสรเพศเมีย 3 อัน กางออก ติดทน ผลแห้งแตกที่ปลาย รูปคนโท ยาว 2–3 มม. เมล็ดรูปไข่ ยาวประมาณ 1 มม.
พบที่เนปาล ภูฏาน อินเดีย พม่า จีน ญี่ปุ่น เกาหลี และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในไทยส่วนมากพบทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขึ้นตามที่โล่งที่ชื้นแฉะ ความสูงถึงประมาณ 1000 เมตร ใบและรากมีกลิ่นคาว กินเป็นผักสด มีสรรพคุณแก้อักเสบต่าง ๆ แก้ไข้ ท้องเสีย ลดความดัน ในญี่ปุ่นทำเป็นเครื่องดื่มคล้ายชา เรียกว่า ‘dokudami cha’
สกุล Houttuynia Thunb. มีชนิดเดียว ทั้งวงศ์ Saururaceae มี 5 สกุล 6 ชนิด
พบในเอเชียและอเมริกาเหนือ ในไทยพบสกุลเดียว ชื่อสกุลตั้งตามนักพฤกษศาสตร์ชาวดัตช์ Maarten Houttuyn (1720–1798)
| | | ชื่อสามัญ Bishop’s weed, Chameleon plant, Fishwort, Heartleaf, Lizard tail
| ชื่ออื่น ผักก้านตอง (แม่ฮ่องสอน); ผักเข้าตอง, ผักคาวตอง (ภาคเหนือ); ผักคาวทอง, พลูแก (ภาคกลาง)
| | ผักคาวทอง: หูใบคล้ายกาบ ใบรูปไข่กว้างคล้ายรูปหัวใจ ใบประดับคล้ายแผ่นกลีบดอก มี 4 ใบ หรือมีอีก 2–4 กลีบคล้ายรูปแถบ ช่อดอกแบบช่อเชิงลด ดูคล้ายดอกเดี่ยว ๆ ดอกย่อยไม่มีกลีบเลี้ยงและกลีบดอก (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)
|
|
|