สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

ผักขมหิน

ผักขมหิน  สกุล
วันที่ 30 มกราคม 2560

Boerhavia L.

Nyctaginaceae

ไม้ล้มลุกทอดนอนหรือทอดเลื้อย ใบเรียงตรงข้าม ขนาดมักไม่เท่ากัน ช่อดอกแบบช่อกระจุกคล้ายช่อซี่ร่มแยกแขนงห่าง ๆ ใบประดับขนาดเล็ก ดอกรูประฆัง วงกลีบรวมคอดเว้าเหนือรังไข่ มี 5 กลีบ ปลายตัดหรือพับจีบ เกสรเพศผู้ 1–5 อัน ไม่ยื่นพ้นหลอดกลีบหรือยื่นเพียงเล็กน้อย ก้านชูอับเรณูเชื่อมติดกันที่โคน รังไข่เบี้ยว มีก้าน ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่ม ผลคล้ายผลแห้งเมล็ดล่อน รูปกรวยกลับหรือคล้ายกระบอง เป็นสัน 5 สัน มักมีขนต่อมเหนียว มีเมล็ดเดียว

สกุล Boerhavia มีประมาณ 50 ชนิด พบในเขตร้อนและกึ่งเขตร้อน ในไทยมี 2 ชนิด และอาจมี B. repens L. และ B. coccinea Mill. ซึ่งมักสับสนและคล้ายกับ B. diffusa L. มาก ลำต้นไม่ทอดเลื้อย มีขนทั่วไป ช่อดอกออกตามซอกใบหรือปลายกิ่งไม่ชัดเจน ส่วนชนิด B. chinensis (L.) Asch. & Schweinf. ในที่นี้ให้เป็นชื่อพ้องของขี้อ้นเครือ Commicarpus chinensis (L.) Heimerl ซึ่งช่อดอกแบบช่อซี่ร่ม ดอกรูปแตร เกสรเพศผู้และเพศเมียยื่นเลยปากหลอดกลีบ ผลมีตุ่มนูนขึ้นชัดเจน ชื่อสกุลตั้งตามนายแพทย์และนักพฤกษศาสตร์ชาวดัตช์ Herman Boerhaave (1668–1739)


ผักขมหิน
วันที่ 30 มกราคม 2560

Boerhavia erecta L.

Nyctaginaceae

ไม้ล้มลุก สูงได้ถึง 1 ม. ลำต้นตั้งตรงหรือทอดเลื้อย ใบส่วนมากอยู่ช่วงล่างของลำต้น ใบรูปไข่หรือคล้ายสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด แกมรูปขอบขนานหรือรูปใบหอก ยาว 2–8 ซม. ปลายแหลม โคนกลมหรือตัด ขอบบางครั้งเว้าเป็นคลื่น แผ่นใบมีขนละเอียดและจุดโปร่งใสกระจาย ก้านใบยาว 0.5–5.5 ซม. ช่อดอกแยกแขนงหลายครั้ง แผ่กระจาย ช่อดอกย่อยส่วนมากมี 1–5 ดอก ไร้ก้านหรือก้านยาวได้ถึง 5 มม. ดอกส่วนมากสีขาว หรือมีปื้นชมพูหรือม่วง กลีบรวมยาวประมาณ 2 มม. เกสรเพศผู้ 1–4 อัน ยื่นพ้นปากหลอดกลีบเล็กน้อย ผลรูปกรวยกลับปลายตัด มี 5 สัน ปลายสันมักแหลม เกลี้ยง ยาว 2–4 มม.

เป็นวัชพืชทั่วไปในเขตร้อน มีสรรพคุณด้านสมุนไพรหลายอย่าง โดยเฉพาะราก

ชื่ออื่น   ผักขมหิน (ภาคใต้); หญ้าหนวดแมว (ภาคกลาง)

ผักขมหิน: B. erecta ใบมีขน ช่อดอกแยกแขนง 4–6 ครั้ง แผ่กระจาย ดอกไร้ก้านหรือมีก้าน ส่วนมากสีขาว ผลรูปกรวยกลับ ปลายตัด มีสันแหลม เกลี้ยง (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)

ผักขมหิน
วันที่ 30 มกราคม 2560

Boerhavia diffusa L.

Nyctaginaceae

ไม้ล้มลุก ลำต้นทอดเลื้อยยาวได้ถึง 1–2 ม. รากหนา ใบรูปไข่แกมรูปขอบขนานหรือรูปใบหอก ยาว 1–5 ซม. ปลายแหลมหรือมน โคนกลมหรือตัด ขอบใบมีต่อมขนสีแดง ก้านช่อดอกยาว ใบประดับรูปสามเหลี่ยมขนาดเล็ก ปลายเรียวแหลม ติดทน แต่ละช่อกระจุกย่อยส่วนมากมี 2–5 ดอก ดอกสีชมพู แดง หรือขาว ก้านดอกสั้นหรือไร้ก้าน กลีบรวม 1.5–2 มม. ปลายจักตื้น ๆ เกสรเพศผู้ส่วนมากมี 2–3 อัน ยื่นพ้นหลอดกลีบเล็กน้อย ผลรูปคล้ายกระบอง ปลายมนกลม มี 5 สัน ยาว 2–3.5 มม. มีต่อมเหนียวกระจายและขนประปราย

เป็นวัชพืชทั่วไปในเขตร้อน กินเป็นผักสด มีสรรพคุณด้านสมุนไพรหลายอย่าง ในออสเตรเลียถือว่าเป็นวัชพืชชั้นดี ใช้เลี้ยงแกะและวัว

ชื่อสามัญ  Spreading hog-weed

ชื่ออื่น   นังกู่แซ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน); ปังแป (ภาคเหนือ); ผักขมฟ้า (สุโขทัย); ผักขมหิน (ภาคกลาง); ผักเบี้ยหิน (ภาคเหนือ); ผักปั๋งดิน (เชียงใหม่); ผักเมียก (ตาก)

ผักขมหิน: B. diffusa ใบเรียงตรงข้ามขนาดไม่เท่ากัน ขอบมีต่อมขนสีแดง ช่อดอกแบบช่อกระจุกคล้ายช่อซี่ร่มแยกแขนง ดอกรูประฆัง ผลรูปคล้ายกระบอง มีต่อมเหนียว (ภาพ: ศิริพร ซึงสนธิพร)



เอกสารอ้างอิง

Larsen, K. (1991). Nyctaginaceae. In Flora of Thailand Vol. 5(3): 371–374.

Lu, D. and M.G. Gilbert. (2003). Nyctaginaceae. In Flora of China Vol. 5: 433–434.