สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

ผักกูดดำ

ผักกูดดำ
วันที่ 30 มกราคม 2560

Asplenium longissimum Blume

Aspleniaceae

เฟินขึ้นบนพื้นดินหรืออิงอาศัย ลำต้นเป็นเหง้าสั้น ๆ ตั้งขึ้น เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 5 มม. ยอดอ่อนมีเกล็ดสีน้ำตาลดำหนาแน่น ใบประกอบ มักห้อยลง ยาว 1–2 ม. ก้านใบสีม่วงคล้ำเป็นร่อง ยาวได้ถึง 20 ซม. ใบย่อยส่วนมากมี 30–50 คู่ ใบคู่ล่างอยู่ใกล้เหง้า ห่างไม่เกิน 3 ซม. ยาว 8–10 ซม. กว้าง 1.5–2 ซม. ปลายเรียวแหลม โคนเบี้ยว เว้าเป็นติ่ง ขอบจักซี่ฟันตื้น ๆ แผ่นใบด้านล่างมีเกล็ดสีดำรูป 3 แฉกกระจาย ก้านสั้นหรือไร้ก้าน กลุ่มอับสปอร์สีน้ำตาลเรียงตัวเป็นแนวใกล้เส้นแขนงใบ ยาวประมาณ 1 ซม. มีเยื่อคลุม

พบที่กัมพูชา เวียดนาม คาบสมุทรมลายู บอร์เนียว ชวา สุมาตรา และภาคใต้ของไทยที่นครศรีธรรมราช ยะลา นราธิวาส ขึ้นตามป่าดิบชื้น ความสูงระดับต่ำ ๆ

สกุล Asplenium L. มีมากกว่า 700 ชนิด ในไทยมีเกือบ 40 ชนิด หลายชนิดมีสรรพคุณด้านสมุนไพร ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก “asplenon” เฟินที่มีสรรพคุณด้านสมุนไพร

ชื่ออื่น   ปากาฮูแต, ปากูฮีแต (มาเลย์-นราธิวาส); ผักกูดดำ (นราธิวาส)

ผักกูดดำ: ใบห้อยลง คู่ล่างอยู่ใกล้เหง้า ก้านใบสีม่วงคล้ำ กลุ่มอับสปอร์เรียงตามเส้นแขนงใบ (ภาพ: ผาทิพย์ ช่วยเนียม)



เอกสารอ้างอิง

Lindsay, S. and D.J. Middleton. (2012 onwards). Ferns of Thailand, Laos and Cambodia. http://rbg-web2.rbge.org.uk/thaiferns/

Tagawa, M. and K. Iwatsuki. (1985). Aspleniaceae. In Flora of Thailand 3(2): 281–282.