สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

ผักกาดกบ

ผักกาดกบ
วันที่ 30 มกราคม 2560

Gynura pseudochina (L.) DC.

Asteraceae

ไม้ล้มลุก ลำต้นสั้นอวบ รากอวบหนา ใบเรียงเวียนเป็นกระจุกที่โคน รูปรี รูปไข่กลับ หรือรูปใบพาย เรียบหรือแฉกลึก ยาว 5–18 ซม. มีขนสั้นนุ่มประปราย ด้านล่างมักมีสีม่วงแซม ก้านใบยาวได้ถึง 3 ซม. ช่อดอกแบบช่อกระจุกแน่นบนช่อเชิงหลั่น ก้านช่อโดดยาว 20–80 ซม. มี 1–5 ช่อ เส้นผ่านศูนย์กลาง 1–1.5 ซม. ก้านช่อยาว 0.5–4 ซม. ใบประดับรูปแถบ มีขนสั้นนุ่ม วงใบประดับรูปถ้วย ยาว 1–1.2 ซม. ริ้วประดับ 8–9 อัน รูปแถบ ขนาดไม่เท่ากัน วงใบประดับย่อยเรียงแถวเดียว มีประมาณ 13 อัน รูปใบหอก ยาว 0.7–1.2 ซม. มีขนสั้นนุ่ม ดอกสีเหลืองหรือส้มอมแดง มี 5 กลีบ ยาว 1–1.3 ซม. หลอดกลีบเรียวยาว กลีบรูปสามเหลี่ยมขนาดเล็กปลายมน เกสรเพศผู้ 5 อัน ก้านเกสรเพศเมียแตกแขนง ผลแห้งเมล็ดล่อน สีน้ำตาลแดง รูปทรงกระบอก ยาว 3–4 มม. มี 10 ริ้ว แพปพัสจำนวนมาก สีขาว ยาว 1–1.2 ซม. มีขนคล้ายไหม ร่วงง่าย

พบที่แอฟริกา ภูฏาน อินเดีย เนปาล จีนตอนใต้ ไห่หนาน และพม่า ในไทยพบแทบทุกภาค ยกเว้นภาคใต้ ขึ้นตามที่โล่งที่เป็นหินปูนหรือในป่าสน ความสูง 500–1500 เมตร มีสรรพคุณลดไข้ แก้แผลอักเสบ แก้ไข้ แก้เจ็บคอ

สกุล Gynura Cass. อยู่ภายใต้เผ่า Senecioneae มีประมาณ 40 ชนิด พบในแอฟริกา เอเชีย และออสเตรเลีย ในไทยมีประมาณ 12 ชนิด ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก “gyne” เพศเมีย และ “oura” หาง ตามลักษณะยอดเกสรเพศเมียที่มีรยางค์เรียวยาว

ชื่อพ้อง  Senecio pseudochina L.

ชื่อสามัญ  Chinese Gynura

ชื่ออื่น   คำโคก (ขอนแก่น, เลย); ผักกาดกบ (เพชรบูรณ์); ผักกาดดง (เลย); ผักกาดดิน (แม่ฮ่องสอน); ผักกาดนกเขา (สุราษฎร์ธานี); หนาดแห้ง (นครราชสีมา)

ผักกาดกบ: ใบเรียงเวียนเป็นกระจุกที่โคน เรียบหรือแฉกลึก ช่อดอกแบบช่อกระจุกแน่น ดอกสีเหลืองหรือส้มอมแดง ก้านเกสรเพศเมียแตกแขนง เรียวยาว (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)



เอกสารอ้างอิง

Chen, Y. and B. Nordenstam. (2011). Asteraceae (Gynura). In Flora of China Vol. 20–21: 539.

Koyama, H., S. Bunwong, P. Pornpongrungrueng and D.J. Nicholas Hind. (2016). Compositae (Asteraceae). In Flora of Thailand Vol. 13(2): 315–324.