สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

ผักกระสัง

ผักกระสัง
วันที่ 30 มกราคม 2560

Peperomia pellucida (L.) Kunth

Piperaceae

ไม้ล้มลุก ทอดนอนหรือตั้งตรง อาจสูงได้ถึง 40 ซม. มีรากตามข้อ ลำต้นอวบน้ำ ไม่มีหูใบ ใบเรียงเวียน แผ่นใบหนา รูปไข่กว้างหรือแกมรูปสามเหลี่ยม ยาว 1–3.5 ซม. โคนตัดหรือรูปหัวใจ ก้านใบยาว 1–2 ซม. ช่อดอกแบบช่อเชิงลด ออกเดี่ยว ๆ ที่ปลายกิ่งหรือตามซอกใบ ยาว 2–6 ซม. ดอกขนาดเล็ก ไร้ก้าน ใบประดับรูปรีกว้าง กว้างประมาณ 0.5 มม. ติดทน มีดอกเดียว ไม่มีกลีบเลี้ยงและกลีบดอก เกสรเพศผู้ 2 อัน ก้านชูอับเรณูสั้นมาก โคนอับเรณูรูปกลม รังไข่มีช่องเดียว มีออวุลเม็ดเดียว ไร้ก้านเกสรเพศเมีย ยอดเกสรเพศเมียมีอันเดียว สั้น ติดทน ผลแบบผลย่อยเปลือกแข็งเมล็ดล่อน กลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.5 มม. เหนียว มีปุ่มกระจาย

มีถิ่นกำเนิดในอเมริกา ขึ้นเป็นวัชพืชทั่วไป ทั้งต้นกินเป็นผักสดหรือปรุงสุก มีสรรพคุณต้านเชื้อแบคทีเรีย แก้ไข้ เจ็บคอ แก้ท้องเสีย

สกุล Peperomia Ruiz & Pav. มีกว่า 1600 ชนิด ในไทยมีมากกว่า 20 ชนิด ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก “peperi” พริกไทย และ “homios” เหมือน ตามลักษณะช่อดอก

ชื่อพ้อง  Piper pellucidum L.

ชื่อสามัญ  Pepper elder

ชื่ออื่น   ชากรูด (ภาคใต้); ตาฉี่โพ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน); ผักกระสัง (ทั่วไป); ผักกูด (เพชรบุรี); ผักราชวงศ์ (แม่ฮ่องสอน); ผักสังเขา (สุราษฎร์ธานี); ผักฮากกล้วย (ภาคเหนือ)

ผักกระสัง: ลำต้นอวบน้ำ ใบเรียงเวียน โคนรูปหัวใจ ช่อดอกแบบช่อเชิงลด ออกตามปลายกิ่งหรือซอกใบ ดอกขนาดเล็ก ไร้ก้าน ฝังบนแกนช่อ ผลมีปุ่มกระจาย (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)



เอกสารอ้างอิง

Tseng, Y.C., N. Xia and M.G. Gilbert. (1999). Piperaceae. In Flora of China Vol. 4: 130.