ไม้ล้มลุก แตกกอ มีเหง้าใต้ดิน รากหนาแน่น ใบเรียงสลับระนาบเดียว รูปแถบ ยาว 40–70 ซม. กาบใบยาว 5–20 ซม. ใบบนก้านช่อดอกขนาดเล็ก ใบประดับคล้ายใบ ปลายเรียวแหลม พับงอในระยะออกดอก ช่อดอกแบบช่อกระจะ มีขนคล้ายขนแกะ ก้านช่อยาว 30–150 ซม. ดอกสีเหลือง กลีบรวม 4 กลีบ คู่นอกยาว 1.2–1.5 ซม. ปลายเรียวยาว ขอบจักมนถี่ กลีบด้านล่างปลายแยก 2 แฉก คู่ในขนาดเล็กกว่า รูปใบพาย ยาว 4–7 มม. เกสรเพศผู้มีอันเดียว ติดบนกลีบด้านในหรือด้านนอกกลีบล่าง ก้านชูอับเรณูยาวประมาณ 5 มม. อับเรณูมี 2 พู บิดโค้งงอ รังไข่มีขนคล้ายขนแกะหนาแน่น มี 3 คาร์เพล ก้านเกสรเพศเมียยาว 3–4 มม. ยอดเกสรเป็นตุ่มคล้ายสามเหลี่ยม ผลแห้งแตก รูปขอบขนานแกมรูปสามเหลี่ยม ยาวประมาณ 1 ซม. เมล็ดขนาดเล็ก จำนวนมาก
พบที่หมู่เกาะอันดามันของอินเดีย พม่า เวียดนาม ไต้หวัน ฮ่องกง คาบสมุทรมลายู นิวกินี ออสเตรเลีย และภาคใต้ของไทย ขึ้นตามที่ชื้นแฉะที่โล่ง นาข้าว ความสูงไม่เกิน 50 เมตร
สกุล Philydrum Banks ex Gaertn. เป็นสกุลที่มีชนิดเดียว ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก “phileo” เพื่อน และ “hydro” น้ำ หมายถึงพืชชอบน้ำ ตามลักษณะถิ่นที่อยู่
|