สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

ปิ้งขาว

ปิ้งขาว
วันที่ 29 ธันวาคม 2559

Clerodendrum colebrookianum Walp.

Lamiaceae

ไม้พุ่มหรือไม้ต้น สูงได้ถึง 6 ม. มีขนสั้นนุ่มละเอียดตามกิ่งอ่อน แผ่นใบด้านล่าง และกลีบเลี้ยงด้านนอก ใบรูปไข่กว้างหรือรูปหัวใจ ยาว 7–20 ซม. ปลายแหลมหรือแหลมยาว แผ่นใบด้านล่างมีต่อมรูปโล่ใกล้โคน ก้านใบยาวได้ถึง 20 ซม. ช่อกระจุกแยกแขนงแบบช่อเชิงหลั่น ก้านช่อยาวได้ถึง 10 ซม. ใบประดับรูปใบหอก ยาวประมาณ 1.5 ซม. ร่วงเร็ว กลีบเลี้ยงยาว 3–5 มม. มีต่อมกระจาย ปลายแยกเป็นแฉกรูปสามเหลี่ยม ขยายในผล ดอกสีขาวหรือชมพู หลอดกลีบดอกยาว 1–2.5 ซม. ไม่มีต่อม กลีบขอบขนาน ยาว 3–6 มม. เกสรเพศผู้และก้านเกสรเพศเมียยื่นพ้นหลอดกลีบดอกเท่า ๆ ความยาวหลอดกลีบ ผลกลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1 ซม. สุกสีดำ (ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ นางแย้ม, สกุล)

พบที่อินเดีย เนปาล ภูฏาน บังกลาเทศ จีนตอนใต้ พม่า ภูมิภาคอินโดจีน คาบสมุทรมลายู ชวา และสุมาตรา ในไทยพบทุกภาค ขึ้นตามชายป่า ความสูงถึงประมาณ 1800 เมตร ราก ใบ และเปลือกแก้ไข้มาลาเรีย

ชื่อสามัญ  East Indian glory bower

ชื่ออื่น   เข็มป่า (แพร่); เขาะคอโด่ะ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน); ดอกปิ้ง (ทั่วไป); นมสวรรค์เขา (นครศรีธรรมราช); แบบิสี่ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน); ปิ้งขาว, ปิ้งสมุทร (ทั่วไป); พวงพีขาว (เลย); พอกวา (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน)

ปิ้งขาว: ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนงแบบช่อเชิงหลั่น ดอกหนาแน่น กลีบเลี้ยงมีต่อมกระจาย ขยายในผล ผลกลม (ภาพ: ปรีชา การะเกตุ)



เอกสารอ้างอิง

Chen, S.L. and M.G. Gilbert. (1994). Verbenaceae (Clerodendrum). In Flora of China Vol. 17: 40.

Leeratiwong, C., P. Chantaranothai and A. Paton. (2011). A synopsis of the genus Clerodendrum L. (Lamiaceae) in Thailand. Tropical Natural History 11(2): 184–185.