สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

ปาล์มเจ้าเมืองตรัง

ปาล์มเจ้าเมืองตรัง
วันที่ 29 ธันวาคม 2559

Licuala peltata Roxb. ex Buch.-Ham. var. sumawongii Saw

Arecaceae

ปาล์มต้นเดี่ยว สูงได้ถึง 6 ม. ใบรูปใบพัด พับจีบ ไม่แยกเป็นส่วน เส้นผ่านศูนย์กลาง 1–1.8 ม. ปลายแฉกตื้น ๆ แผ่นใบเป็นมันวาวทั้งสองด้าน ก้านใบยาวได้ถึง 2.7 ม. มีหนามตลอดความยาว ปลายหนามสีดำ กาบใบยาว 50–60 ซม. ช่อดอกออกระหว่างใบ มี 2–3 ช่อ โค้งลง ยาวได้ถึง 3.5 ม. มีขนสีน้ำตาลแดง ก้านช่อยาว 0.8–1.2 ม. ใบที่ลดรูปคล้ายใบประดับ (prophyll) ยาว 35–40 ซม. ช่อดอกย่อยแบบช่อเชิงลด มี 3–7 ช่อ ห้อยลง ใบประดับเป็นหลอด ยาว 33–36 ซม. แฉกไม่เป็นระเบียบ ขอบมีเส้นใย ช่อย่อยยาว 35–55 ซม. ช่วงโคนยาวได้ถึง 15 ซม. ดอกจำนวนมาก ออกเดี่ยว ๆ ใบประดับย่อยขนาดเล็ก ก้านดอกยาวประมาณ 2 มม. กลีบเลี้ยงรูประฆัง ยาว 6–7 มม. ปลายจักตื้น ๆ 3 แฉก กลีบดอก 3 กลีบ ยาว 1–1.2 ซม. มีขนหนาแน่น เกสรเพศผู้ 6 อัน ติดที่โคนกลีบดอก ยาว 8–9 มม. รังไข่เกลี้ยง ก้านเกสรเพศเมียรูปเส้นด้าย ยาว 7–8 มม. ผลรูปรี ยาว 1.2–2 ซม. สุกสีแดงอมส้ม

พืชถิ่นเดียวของไทย พบเฉพาะทางภาคใต้ที่ตรัง พบน้อยมากในป่าธรรมชาติ ลักษณะคล้ายกับ var. peltata แต่ใบไม่แยกเป็นส่วน ดอกขนาดเล็กกว่า เคยรู้จักในชื่อ L. elegans Blume ซึ่งเป็นชื่อพ้องของ L. pumila Blume ที่พบในชวาและสุมาตรา คำระบุ var. ตั้งตามนายวัฒนา สุมาวงศ์ ผู้นำไปปลูกไว้ที่สวนส่วนตัว และเก็บตัวอย่างให้กับสวนพฤกษศาสตร์คิว

สกุล Licuala Wurmb อยู่ภายใต้วงศ์ย่อย Coryphoideae เผ่า Corypheae มีประมาณ 135 ชนิด พบในเอเชียและหมู่เกาะแปซิฟิก ในไทยมี 13 ชนิด ชื่อสกุลมาจากภาษาพื้นเมืองหมู่เกาะโมลุกกะ ของมาเลเซีย “leko wala

ปาล์มเจ้าเมืองตรัง: ใบรูปใบพัด พับจีบ ไม่แยกเป็นส่วน ๆ ปลายแฉกตื้น ๆ ช่อดอกย่อยแบบช่อเชิงลด ห้อยลง (ภาพ: ปรีชา การะเกตุ)



เอกสารอ้างอิง

Barfod, A.S. and J. Dransfield. (2013). Arecaceae. In Flora of Thailand Vol. 11(3): 437–439.