สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

ปัตตาเวีย

ปัตตาเวีย
วันที่ 29 ธันวาคม 2559

Jatropha integerrima Jacq.

Euphorbiaceae

ไม้พุ่ม สูงได้ถึง 6 ม. แยกเพศร่วมต้น หูใบรูปเส้นด้ายขนาดเล็ก ใบเรียงเวียนหนาแน่นตามปลายกิ่ง รูปไข่กลับหรือรูปคล้ายไวโอลิน ยาว 6–13 ซม. โคนจักซี่ฟันตื้น ๆ เส้นโคนใบ 3–5 เส้น ช่อดอกคล้ายช่อเชิงหลั่น ยาวได้ถึง 15 ซม. ใบประดับรูปใบหอก ยาวได้ถึง 4 มม. ดอกเพศผู้อยู่ด้านข้าง ก้านดอกยาวประมาณ 7 มม. กลีบเลี้ยง 5 กลีบ ยาวประมาณ 2.5 มม. แฉกลึกประมาณกึ่งหนึ่ง ดอกสีชมพูหรืออมแดง กลีบรูปไข่กลับ ยาว 1–1.3 ซม. โคนมีขนสีขาว เกสรเพศผู้ 10 อัน เรียง 2 วง ยาวประมาณกึ่งหนึ่งของกลีบดอก ก้านชูอับเรณูเชื่อมติดกัน จานฐานดอกจัก 5 พู ดอกเพศเมียมีดอกเดียวที่ปลายช่อ บานก่อนดอกเพศผู้ ก้านเกสรเพศเมีย 3 อัน ยอดเกสรแฉกลึก 2 แฉก ผลแห้งแตก เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1 ซม. เมล็ดรูปรี ยาว 8–9 มม. จุกขั้วแยกเป็น 2 แฉก

ถิ่นกำเนิดในแถบหมู่เกาะอินดีสตะวันตก โดยเฉพาะคิวบา เป็นไม้ประดับทั่วไปในเขตร้อน ยางมีพิษ

สกุล Jatropha L. อยู่ภายใต้วงศ์ย่อย Crotonoideae เผ่า Jatropheae มีประมาณ 175 ชนิด พบในอเมริกาเขตร้อน แอฟริกา และเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ ในไทยมี 5 ชนิด เป็นไม้ประดับ วัชพืช หรือปลูกเพื่อสกัดน้ำมันจากเมล็ด อีก 4 ชนิด คือ ฝิ่นต้น J. multifida L. สบู่ดำ J. curcas L. สบู่แดง J. gossypiifolia L. และหนุมานนั่งแท่น J. podagrica Hook. ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก “jatros” หมอ และ “trophe” อาหาร หมายถึงพืชเป็นอาหารและสมุนไพร

ชื่อสามัญ  Peregrina, Rose-flowered Jatropha, Spicy Jatropha

ปัตตาเวีย: ใบรูปไข่กลับหรือรูปคล้ายไวโอลิน ดอกเพศเมียออกที่ปลายช่อ บานก่อนดอกเพศผู้ (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)



เอกสารอ้างอิง

Chantharaprasong, J. and P.C. van Welzen. (2007). Euphorbiaceae (Jatropha). In Flora of Thailand Vol. 8(2): 347.