สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

ปอแก้ว

ปอแก้ว
วันที่ 29 ธันวาคม 2559

Abelmoschus manihot (L.) Medik. var. pungens (Roxb.) Hochr.

Malvaceae

ไม้ล้มลุก สูง 1–2 ม. ส่วนต่าง ๆ และผล มีขนหยาบยาวหนาแน่น หูใบรูปแถบหรือรูปเส้นด้าย ยาว 1–1.5 ซม. บางครั้งมีข้างละ 2 อัน ใบรูปฝ่ามือ มี 5–9 พู หรือแฉกแบบขนนก เส้นผ่านศูนย์กลาง 15–30 ซม. พูรูปขอบขนานหรือรูปใบหอก โคนรูปหัวใจ ขอบจักฟันเลื่อยห่าง ๆ ก้านใบยาว 6–18 ซม. ดอกมักออกหนาแน่นตามปลายกิ่งคล้ายแบบช่อกระจะ ซึ่งใบลดรูป ก้านดอกยาว 1.5–4 ซม. ริ้วประดับ 5 อัน รูปไข่แกมรูปขอบขนานหรือรูปใบหอก ยาว 1.5–2.5 ซม. กลีบเลี้ยงยาว 2–3 ซม. ด้านนอกมีขนละเอียด ดอกสีเหลืองนวล โคนกลีบด้านในสีม่วงเข้ม ดอกบานเส้นผ่านศูนย์กลาง 10–12 ซม. กลีบรูปไข่กลับ เส้าเกสรยาว 1.5–2.5 ซม. อับเรณูเกือบไร้ก้าน รังไข่มีขนหนาแน่น ผลรูปไข่ ยาว 4–5 ซม. มี 5 สัน เมล็ดสีน้ำตาลดำ รูปคล้ายไต มีขนเป็นแนวหนาแน่น (ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ กระเจี๊ยบมอญ, สกุล)

พบที่อินเดีย เนปาล จีน และพม่า ในไทยพบทางภาคเหนือ ขึ้นตามที่โล่ง และชายป่าเบญจพรรณ ความสูง 300–500 เมตร ส่วน var. manihot ลำต้นไม่มีขน

ชื่อพ้อง  Hibiscus pungens Roxb.

ชื่อสามัญ  Kenaf

ชื่ออื่น   ปอแก้ว (แพร่, เพชรบูรณ์); ปอฝ้าย (ภาคเหนือ)

ปอแก้ว: มีขนหยาบยาวกระจายหนาแน่น ดอกออกตามปลายกิ่งหนาแน่นคล้ายช่อกระจะ ริ้วประดับ 5 อัน ดอกสีเหลืองนวล โคนกลีบด้านในสีม่วงเข้ม ผลมี 5 สัน (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)

ปอแก้ว
วันที่ 29 ธันวาคม 2559

Phanera bracteata Benth.

Fabaceae

ดูที่ ปอเจี๋ยน



เอกสารอ้างอิง

Tang, Y., M.G. Gilbert and L.J. Dorr. (2007). Malvaceae. In Flora of China Vol. 12: 284.