สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

ปอหู

ปอหู
วันที่ 29 ธันวาคม 2559

Hibiscus macrophyllus Roxb. ex Hornem.

Malvaceae

ไม้ต้น สูงได้ถึง 10 ม. มีขนกระจุกยาวหนาแน่นตามกิ่ง หูใบ แผ่นใบ ริ้วประดับ ช่อดอก และกลีบเลี้ยง ขนยาวได้ถึง 8 มม. หูใบรูปขอบขนาน ยาว 6–10 ซม. ร่วงเร็ว ใบรูปไข่กว้างหรือเกือบกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง 20–36 ซม. ปลายเป็นติ่งแหลมยาว โคนรูปหัวใจ เส้นโคนใบ 7 หรือ 9 เส้น มีต่อมตามเส้นแขนงใบ ก้านใบยาว 15–30 ซม. ช่อดอกออกที่ปลายกิ่ง ยาวได้ถึง 30 ซม. ก้านดอกยาว 2.5–3 ซม. ใบประดับคล้ายหูใบ มี 1 คู่ โคนเชื่อมติดกัน ริ้วประดับมี 10–12 อัน โคนเชื่อมติดกัน รูปใบหอก ยาวได้ถึง 3 ซม. กลีบเลี้ยงรูปใบหอก ยาวเท่า ๆ ริ้วประดับ ดอกรูประฆัง สีเหลือง โคนด้านในมีปื้นสีน้ำตาลอมม่วง ดอกบานเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 6 ซม. กลีบรูปไข่กลับ ยาว 4.5–6 ซม. หลอดเกสรเพศผู้ยาวประมาณ 3 ซม. ก้านชูอับเรณูสั้น ก้านเกสรเพศเมียมีขนหนาแน่น ผลรูปขอบขนาน ยาว 2.5–3 ซม. มีขนหยาบแข็งยาวหนาแน่น (ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ ชบา, สกุล)

พบที่อินเดีย ปากีสถาน บังกลาเทศ จีนตอนใต้ พม่า ภูมิภาคอินโดจีน คาบสมุทรมลายู ชวา บอรฺ์เนียว และฟิลิปปินส์ (ปาละวัน) ในไทยพบแทบทุกภาค ส่วนมากพบทางภาคใต้ ขึ้นตามป่าดิบแล้ง ป่าดิบชื้น และป่าดิบเขา หรือชายป่า ความสูงถึงประมาณ 1400 เมตร มีสรรพคุณเป็นยาสมาน เปลือกใช้ทำเชือกและกระดาษ บางครั้งเรียกทางการค้าในการปลูกสวนป่าว่า พญาคชราช เนื่องจากเนื้อไม้มีลายคล้ายไม้สัก แต่ไม่ทนทาน

ชื่อพ้อง  Talipariti macrophyllum (Roxb. ex Hornem.) Fryxell

ชื่อสามัญ  Largeleaf rosemallow

ชื่ออื่น   ขี้เท่า (ชัยภูมิ); จ๊อง (มาเลย์-ปัตตานี); ชู้เมีย (เพชรบุรี); ตองเต๊า, ท้องโต (ภาคเหนือ); ปอจง (เชียงใหม่); ปอเปิด (ชลบุรี); ปอมุก (ชุมพร); ปอสามเต๊า (เชียงใหม่); ปอหมื่น (ภาคเหนือ); ปอหู (สระบุรี); เปิด (เชียงใหม่); พญาคชราช (ทั่วไป); อูจง (ตรัง); แอบข้าว (ภาคเหนือ); ไอจ๊อง (มาเลย์-ปัตตานี)

ปอหู: ใบรูปไข่กว้างหรือเกือบกลม มีขนกระจุกยาวหนาแน่น โคนรูปหัวใจ มีต่อมตามเส้นแขนงใบ ช่อดอกออกที่ปลายกิ่ง ดอกรูประฆัง สีเหลือง โคนด้านในมีปื้นสีน้ำตาลอมม่วง (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)



เอกสารอ้างอิง

Phuphathanaphong, L., P. Siriruksa and G. Nuvongsri. (1989). The genus Hibiscus in Thailand. Thai Forest Bullettin (Botany) 18: 56–61.

Tang, Y., M.G. Gilbert and L.J. Dorr. (2007). Malvaceae (Hibiscus macrophyllus). In Flora of China Vol. 12: 287.