สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

ปอลมปม

ปอลมปม
วันที่ 29 ธันวาคม 2559

Thespesia lampas (Cav.) Dalzell & A.Gibson

Malvaceae

ไม้พุ่ม สูง 1–3 ม. มีขนรูปดาวละเอียดตามกิ่ง แผ่นใบด้านล่าง ก้านใบ ก้านดอก กลีบเลี้ยงและกลีบดอกด้านนอก และผล หูใบรูปแถบ ยาว 5–8 มม. ใบรูปไข่กว้าง จัก 3 พู ยาว 8–20 ซม. โคนกลมหรือรูปหัวใจตื้นๆ เส้นโคนใบ 5–7 เส้น ก้านใบยาวได้ถึง 7 ซม. ดอกออกเดี่ยว ๆ หรือเป็นช่อกระจุกตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ก้านดอกยาว 0.5–1 ซม. ริ้วประดับ 5 อัน รูปลิ่มแคบ ยาว 2–5 มม. ร่วงเร็ว กลีบเลี้ยงรูปถ้วย ปลายแฉกรูปลิ่มแคบ ยาวได้ถึง 8 มม. ดอกรูประฆังสีเหลือง โคนกลีบด้านในมีสีม่วงอมแดง กลีบรูปไข่กลับ ยาว 6–8 ซม. เส้าเกสรยาวประมาณ 1.5 ซม. ก้านชูอับเรณูยาว 2–4 มม. อับเรณูรูปเกือกม้า ก้านเกสรเพศเมียยาวประมาณ 1.5 ซม. ยอดเกสรรูปกระบอง ยาว 5–8 มม. ผลรูปรีกว้างหรือเกือบกลม ยาว 2–3 ซม. ผนังหนาเป็นเหลี่ยม แตกตามยาว เมล็ดรูปไข่กลับ ยาวประมาณ 5 มม. มีขนเป็นวงใกล้ขั้วเมล็ด (ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ โพทะเล, สกุล)

พบที่แอฟริกา อินเดีย เนปาล พม่า จีนตอนใต้ ลาว เวียดนาม ภูมิภาคมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และนิวกินี ในไทยพบทุกภาค ขึ้นตามชายป่า ความสูงถึงประมาณ 1300 เมตร เปลือกในใช้ทำเชือก เส้นใยจากเมล็ดใช้ทอเป็นผ้า

ชื่อพ้อง  Hibiscus lampas Cav.

ชื่อสามัญ  Common mallow

ชื่ออื่น   คว้ายกวาง (ชุมพร); ปอกะเจา (สระบุรี); ปอลมปม (ปราจีนบุรี, อุบลราชธานี); ปอเอี้ยว (เชียงใหม่); โพป่า (ภาคกลาง); ลมปม (ชัยภูมิ)

ปอลมปม: ใบรูปไข่กว้าง จัก 3 พู กลีบเลี้ยงจักตื้น ๆ ปลายแฉกรูปลิ่มแคบ ดอกรูประฆัง โคนด้านในมีสีม่วงอมแดง เกสรเพศผู้ติดตลอดความยาวหลอดเกสร ยอดเกสรเพศเมียรูปกระบอง (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)



เอกสารอ้างอิง

Tang, Y., M.G. Gilbert and L.J. Dorr. (2007). Malvaceae. In Flora of China Vol. 12: 295–296.