สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

ปอผ่าสาม

ปอผ่าสาม
วันที่ 29 ธันวาคม 2559

Sterculia lanceolata Cav.

Malvaceae

ไม้พุ่มหรือไม้ต้น สูง 1–5 ม. กิ่งอ่อนมีขน กิ่งแก่มีช่องอากาศ หูใบรูปใบหอกขนาดเล็ก ร่วงเร็ว ใบรูปรีถึงรูปใบหอก ยาว 8–22 ซม. ปลายแหลม แหลมยาว หรือยาวคล้ายหาง แผ่นใบเกลี้ยง เส้นแขนงใบเรียงจรดกันใกล้ขอบใบ ไม่มีเส้นโคนใบ ก้านใบยาว 1–5 ซม. ช่อดอกห้อยลง แยกแขนง ยาว 4–10 ซม. ก้านดอกยาว 1–2 ซม. กลีบเลี้ยงสีชมพูหรืออมแดง แฉกลึกเกือบจรดโคน กลีบรูปขอบขนานหรือรูปใบหอก ยาว 4–8 มม. มีขนรูปดาวกระจาย ขอบมีขนครุย เกสรเพศผู้ 10 อัน อับเรณูไร้ก้าน โคนเชื่อมติดกัน ก้านเกสรเพศเมียเชื่อมติดกัน มีขนหนาแน่น ยอดเกสรจัก 5 พู พับงอกลับ มี 2–5 ผลย่อย รูปขอบขนาน โค้ง ยาว 4–8 ซม. ปลายเป็นจะงอย ผลแก่สีแดงอมส้ม มีขนสั้นนุ่ม มี 3–5 เมล็ด รูปรี ยาว 1–1.5 ซม. แก่สีดำ (ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ ปอขนุน, สกุล)

พบที่จีน พม่า ภูมิภาคอินโดจีน และคาบสมุทรมลายู ในไทยพบกระจายทุกภาค ขึ้นใต้ร่มเงาในป่าดิบแล้ง ป่าดิบเขา ป่าดิบชื้น และป่าดิบเขา ความสูงถึงประมาณ 1600 เมตร เปลือกเหนียวใช้ทำเชือกและกระดาษ

ชื่ออื่น   กะลูแปลิบา (มาเลย์-นราธิวาส); กินง่วง (เลย); จะต้อนตบ (เย้า-เชียงราย); ต่างไก่ (เลย); ปอผ่าสาม (หนองคาย); ลิ้นบ่อเอื้อน (เลย)

ปอผ่าสาม: แผ่นใบเกลี้ยง กลีบเลี้ยงแฉกลึก มีขนรูปดาวกระจาย ผลแก่สีแดงอมส้ม มี 3–5 เมล็ดในแต่ละซีก แก่สีดำ (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)



เอกสารอ้างอิง

Phengklai, C. (2001). Sterculiaceae. In Flora of Thailand Vol. 7(3): 635.

Tang, Y., M.G. Gilbert and L.J. Dorr. (2007). Sterculiaceae. In Flora of China Vol. 12: 309.