สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

ปอบิด

ปอบิด
วันที่ 29 ธันวาคม 2559

Helicteres isora L.

Malvaceae

ไม้พุ่ม สูง 1–5 ม. มีขนรูปดาวละเอียดหรือขนสั้นนุ่มตามกิ่ง หูใบ แผ่นใบด้านล่าง กลีบเลี้ยงด้านนอก และผล หูใบรูปเส้นด้าย ยาวได้ถึง 1 ซม. ใบรูปรีหรือรูปไข่กว้าง ยาว 8–20 ซม. ปลายจักเป็นแฉก ปลายแฉกแหลมยาวคล้ายหาง โคนกลมหรือรูปหัวใจ ขอบใบจักฟันเลื่อยสองชั้น เส้นโคนใบ 5–7 เส้น ก้านใบยาว 1–3 ซม. ช่อดอกออกสั้น ๆ 2–3 ช่อ เรียงชิดกันตามซอกใบ โค้งด้านเดียว หลอดกลีบเลี้ยงยาว 1.5–2 ซม. ดอกสีส้มหรืออมแดง โคนด้านในมีจุดดำละเอียด กลีบบน 2 กลีบ ขนาดใหญ่ รูปใบหอกกลับ ยาว 2.5–3 ซม. กลีบพับงอกลับ ยาว 1.2–1.5 ซม. รังไข่บิดเวียน มีตุ่มเป็นขน ปลายก้านเกสรเพศเมียมีจุดสีดำละเอียด ยอดเกสรแฉกตื้น ๆ 5 แฉก ผลรูปทรงกระบอก บิดเป็นเกลียว ปลายแหลม ผลแก่สีดำ (ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ ขี้อ้น, สกุล)

พบที่อินเดีย จีนตอนใต้ พม่า ภูมิภาคอินโดจีนและมาเลเซีย ในไทยพบทุกภาค ขึ้นตามป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง ชายป่าดิบชื้น สองข้างทาง ความสูง 100–400 เมตร เปลือก ราก และผลมีสรรพคุณด้านสมุนไพรหลายอย่าง โดยเฉพาะแก้ท้องเสียและบิด ผสมกับสมุนไพรชนิดอื่น ๆ เป็นยาหลายขนาน

ชื่ออื่น   ขี้อ้นใหญ่ (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ); ช้อ (กะเหรี่ยง-เชียงใหม่); ปอทับ (เชียงใหม่); ปอบิด (ภาคกลาง); มะปิด (ภาคเหนือ)

ปอบิด: หูใบรูปเส้นด้าย ปลายจักเป็นแฉก ขอบจักฟันเลื่อยซ้อน ช่อดอกออกเป็นกระจุกสั้น ๆ ตามซอกใบ ดอกโค้งด้านเดียว กลีบบนพับงอกลับ ผลบิดเป็นเกลียว (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)



เอกสารอ้างอิง

Phengklai, C. (2001). Sterculiaceae. In Flora of Thailand Vol. 7(3): 568.

Tang, Y., M.G. Gilbert and L.J. Dorr. (2007). Sterculiaceae. In Flora of China Vol. 12: 318.