ไม้พุ่มหรือไม้ต้น สูงได้ถึง 20 ม. ผลัดใบ บางครั้งมีหนาม ไม่มีหูใบ ใบเรียงเวียน รูปรี รูปขอบขนาน หรือแกมรูปไข่ ยาว 3–18 ซม. โคนเบี้ยวเล็กน้อย ก้านใบยาว 0.5–1.5 ซม. ช่อดอกแบบช่อกระจุก ไร้ก้านช่อ แต่ละกระจุกมี 1–8 ดอก มีขนสั้นนุ่ม ก้านดอกยาว 2–8 มม. กลีบเลี้ยงรูปถ้วย ปลายจักตื้น ๆ 5–10 กลีบ รูปสามเหลี่ยม ยาวประมาณ 3 มม. ดอกสีครีม มี 4–6 กลีบ หรือถึง 10 กลีบ รูปแถบ ปลายมน ยาว 1.2–3 ซม. ด้านนอกมีขนสั้นนุ่ม เกสรเพศผู้ 10–30 อัน ติดบนจานฐานดอก ก้านชูอับเรณูยาว 0.4–1.2 ซม. ปลายเป็นข้องอ มีขนเครา จานฐานดอกจักเป็นพู รังไข่ใต้วงกลีบ มี 1–2 ช่อง เกลี้ยง ก้านเกสรเพศเมียยาว 0.8–2.4 ซม. ยอดเกสรเป็นตุ่ม ผลผนังชั้นในแข็ง สุกสีแดง รูปรีหรือเกือบกลม ยาว 1–2.4 ซม. มี 1–2 เมล็ด กลีบเลี้ยงและจานฐานดอกติดทน
พบที่แอฟริกา อินเดีย เนปาล ศรีลังกา พม่า จีนตอนใต้ ภูมิภาคอินโดจีนและมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ในไทยพบแทบทุกภาค ยกเว้นภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคใต้ ขึ้นตามป่าเบญจพรรณ เขาหินปูนที่แห้งแล้ง ความสูงถึงประมาณ 500 เมตร มีสรรพคุณบำรุงกำลัง และแก้ริดสีดวงทวาร มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ส่วน subsp. salviifolium พบที่แอฟริกา
สกุล Alangium Lam. เคยอยู่ภายใต้วงศ์ Alangiaceae มี 21 ชนิด พบในแอฟริกา เอเชีย ออสเตรเลีย และฟิจิ ในไทยมี 5–6 ชนิด ชื่อสกุลมาจากภาษามาลายาลัม ในอินเดีย “Alangi” ที่ใช้เรียกพืชชนิดนี้
|
ชื่อพ้อง Alangium hexapetalum Lam.
|
|
ชื่อสามัญ Sage-leaved Alangium
|
ชื่ออื่น ปรู (ภาคกลาง); ปรู๋ (ภาคเหนือ, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ); ผลู (ภาคกลาง); มะเกลือกา (ปราจีนบุรี); มะตาปู๋ (เชียงใหม่)
|
|
ปรู๋: ไม้ต้นผลัดใบ ช่อดอกแบบช่อกระจุก ไร้ก้านช่อ มีขนสั้นนุ่ม กลีบดอกมี 4–6 กลีบ หรือถึง 10 กลีบ รูปแถบ ผลสุกสีแดง (ภาพ: สุคิด เรืองเรื่อ)
|
|