สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

ประทัดดอย

ประทัดดอย  สกุล
วันที่ 29 ธันวาคม 2559

Agapetes D.Don ex G.Don

Ericaceae

ไม้พุ่ม ขึ้นบนพื้นดินหรืออิงอาศัย มักมีรากคล้ายหัว ใบเรียงเวียน เรียงรอบข้อ หรือเกือบตรงข้าม ช่อดอกแบบช่อกระจะ ช่อเชิงหลั่น ช่อกระจุก หรือมีดอกเดียว ก้านดอกมักมีข้อ ปลายหนาคล้ายฐานดอก ใบประดับและใบประดับย่อยขนาดเล็ก กลีบเลี้ยง 5 กลีบ ติดทน กลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดหรือรูประฆัง ปลายแยก 5 แฉกสั้น ๆ เกสรเพศผู้ 10 อัน โคนอับเรณูมีเดือยหรือไม่มี ปลายมีหลอด 2 หลอด มีรูเปิดที่ปลายหรือเปิดตามยาว จานฐานดอกรูปวงแหวน รังไข่ใต้วงกลีบคล้ายมี 10 ช่อง ออวุลจำนวนมาก ก้านเกสรเพศเมียยื่นเลยอับเรณูเล็กน้อย ยอดเกสรเพศเมียขนาดเล็ก ผลแบบผลสดหรือแห้งมีหลายเมล็ด เมล็ดขนาดเล็ก ผิวเป็นร่างแห

สกุล Agapetes อยู่ภายใต้วงศ์ย่อย Vaccinioideae มีมากกว่า 80 ชนิด พบเฉพาะในเอเชีย ในไทยมี 12 ชนิด ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก “agapetos” ชื่นชมหรือรัก หมายถึงพืชที่มีดอกสวยงาม


ประทัดดอย
วันที่ 29 ธันวาคม 2559

Agapetes parishii C.B.Clarke

Ericaceae

ไม้พุ่มอิงอาศัย อาจสูงได้ถึง 2 ม. ใบเรียงเวียนรอบข้อ รูปใบหอก ยาว 10–15 ซม. ปลายแหลม โคนรูปลิ่ม ก้านใบยาว 0.4–1.2 ซม. ช่อดอกแบบช่อเชิงหลั่น ออกสั้น ๆ ตามซอกใบหรือกิ่ง ดอกจำนวนมาก ก้านช่อยาว 4–8 มม. ก้านดอกยาว 2–2.5 ซม. ดอกสีแดงสด หลอดกลีบเลี้ยงรูปถ้วย กลีบรูปสามเหลี่ยมแคบ ยาว 3–4 มม. หลอดกลีบดอกยาวประมาณ 3 ซม. กลีบรูปสามเหลี่ยม ยาว 3–4 มม. โค้งบานออก ก้านชูอับเรณูสั้น โคนอับเรณูไม่มีเดือย หลอดอับเรณูยาวประมาณ 2 ซม. ผลกลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 7 มม.

พบที่อินเดีย อัสสัม และพม่า ในไทยพบทางภาคเหนือ ภาคตะวันตกเฉียงใต้ ขึ้นตามคบไม้ในป่าดิบเขา ความสูง 1000–1600 เมตร

ชื่ออื่น   ข้าวเย็น (เลย, ภาคเหนือ); ประทัดดอย (กรุงเทพฯ)

ประทัดดอย: ใบเรียงเวียนรอบข้อ ช่อดอกแบบช่อเชิงหลั่นสั้น ๆ ออกตามซอกใบหรือกิ่ง กลีบเลี้ยงรูปถ้วย ปลายแฉกสั้น ๆ (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)

ประทัดดอย
วันที่ 29 ธันวาคม 2559

Agapetes megacarpa W.W.Sm.

Ericaceae

ไม้พุ่มอิงอาศัย สูง 1–5 ม. ใบเรียงเวียนรอบข้อ รูปขอบขนานหรือรูปใบหอก ยาว 7–17 ซม. โคนมนหรือเว้าตื้น ก้านใบสั้น ช่อดอกแบบช่อเชิงหลั่นหรือช่อกระจะคล้ายรูปซี่ร่ม ช่อดอกยาว 7–8 ซม. มี 3–9 ดอก ก้านยาวได้ถึง 4.5 ซม. ก้านดอกยาว 2–4 ซม. ฐานดอกกว้าง 5–6 มม. หลอดกลีบเลี้ยงรูปถ้วยสีแดง ยาวประมาณ 3 มม. กลีบรูปลิ่มแคบ ยาว 0.7–1 ซม. ดอกสีชมพูอมแดง มีลายเส้นกลีบ หลอดกลีบดอกยาว 4–5.5 ซม. กลีบรูปสามเหลี่ยมแคบ ยาว 0.7–1.2 ซม. พับงอกลับ ก้านชูอับเรณูสั้น โคนอับเรณูมีเดือย 2 อันขนาดเล็ก หลอดอับเรณูยาวประมาณ 4 ซม. เปิดตามยาว ผลกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง 1–1.2 ซม.

พบที่จีนตอนใต้ และภาคเหนือของไทยที่เชียงใหม่ เชียงราย และน่าน ขึ้นบนเขาหินปูนหรือบนคบไม้ ในป่าดิบเขา ความสูง 1000–2000 เมตร

ชื่ออื่น   ประทัดดอย, ประทัดใหญ่, ประทัดอ่างขาง (ทั่วไป)

ประทัดดอย: ช่อดอกแบบช่อเชิงหลั่นหรือช่อกระจะคล้ายรูปซี่ร่ม ปลายก้านดอกหนาคล้ายฐานดอก หลอดกลีบเลี้ยงรูปถ้วยสีแดง ติดทน หลอดอับเรณูยาว (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)



เอกสารอ้างอิง

Barlow, B. (2002). Loranthaceae. In Flora of Thailand Vol. 7(4): 689–695.

Qiu, H. and M.G. Gilbert. (2003). Loranthaceae. In Flora of China Vol. 5: 221.