ไม้ล้มลุก สูง 10–40 ซม. มีหัวใต้ดินกลม ใบรูปสามเหลี่ยมคล้ายไตหรือแยก 3 พู ยาว 5–17 ซม. ก้านใบยาว 10–35 ซม. ช่อดอกแบบช่อเชิงลดมีกาบ ออกหลังผลิใบ มีกลิ่นเหม็น ก้านช่อยาว 2–9 ซม. กาบยาว 8–18 ซม. กาบล่างรูปไข่ ยาว 2–3.5 ซม. ด้านในสีม่วงอมน้ำตาลแดง ด้านนอกสีน้ำตาลอมเขียว โคนบิดม้วนโอบรอบช่อ ปลายกาบคอดเรียวยาว บิดเวียนเล็กน้อย ยาว 6–15 ซม. ช่อดอกยาวเท่า ๆ กาบล่าง ช่วงดอกเพศผู้ยาว 0.7–1.2 ซม. ดอกเพศผู้จำนวนมาก เกสรเพศผู้ 2–3 อัน สีเหลืองครีม อับเรณูไร้ก้าน ช่องเปิดที่ปลาย ปลายช่อเป็นรยางค์รูปกรวย สีม่วงอมน้ำตาลเข้ม ยาว 12–15 ซม. โคนเส้นผ่านศูนย์กลาง 3–4 มม. ช่วงดอกเพศเมียยาวประมาณ 5 มม. รังไข่สีขาวครีม ยอดเกสรเพศเมียสีม่วง ช่วงที่เป็นหมันยาว 1.5–2.2 ซม. เกสรเพศผู้ที่เป็นหมันหนาแน่น โค้งลง สีครีมหรือเหลืองอ่อน ยาวประมาณ 8–9 มม. ช่อผลมีโคนกาบหุ้ม ช่อแก่กาบเปิดออก ผลสดมีเมล็ดเดียว รูปรีหรือรูปไข่ ผลแก่สีขาว
พบที่อินเดีย ศรีลังกา บังกลาเทศ พม่า จีนตอนใต้ ไต้หวัน ญี่ปุ่น ภูมิภาคอินโดจีนและมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ นิวกินี ในไทยพบทุกภาค ขึ้นตามที่โล่งหรือเขาหินปูน ความสูงระดับต่ำ ๆ
สกุล Typhonium Schott มีประมาณ 100 ชนิด พบในเอเชียเขตร้อนและกึ่งเขตร้อน นิวกินี และออสเตรเลีย ในไทยมี 32 ชนิด ในจำนวนนี้เป็นพืชถิ่นเดียวถึง 24 ชนิด หรือกว่าร้อยละ 75 ซึ่งบางชนิดอาจถูกย้ายไปอยู่ในสกุล Sauromatum ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก “typhonios” หมายถึงพืชที่มีกลิ่นหอมคล้ายลาเวนเดอร์
|