สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

นางแย้ม

นางแย้ม
วันที่ 28 เมษายน 2560

Rauvolfia cambodiana Pierre ex Pit.

Apocynaceae

ดูที่ ระย่อมหลวง

นางแย้ม
วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560

Asclepias curassavica L.

Apocynaceae

ดูที่ ไฟเดือนห้า

นางแย้ม  สกุล
วันที่ 28 พฤศจิกายน 2559

Clerodendrum L.

Lamiaceae

ไม้พุ่ม ไม้ต้น หรือไม้เถา กิ่งมักเป็นสี่เหลี่ยม ไม่มีหูใบ ใบเรียงตรงข้ามสลับตั้งฉากหรือเรียงรอบข้อ ช่อดอกแบบช่อกระจุก บางครั้งแยกแขนงแบบช่อเชิงหลั่น หรือช่อกระจุกแน่น ออกตามปลายกิ่ง มีใบประดับและใบประดับย่อย กลีบเลี้ยง 5 กลีบ โคนเชื่อมติดกัน ติดทน กลีบดอกสมมาตรด้านข้าง หลอดกลีบเรียวยาว ส่วนมากมี 5 กลีบ ขนาดไม่เท่ากัน เกสรเพศผู้สองคู่ยาวไม่เท่ากัน ติดภายในหลอดกลีบดอกระหว่างกลีบดอก ยื่นพ้นหลอดกลีบ อับเรณูมี 2 ช่อง แตกตามยาว รังไข่มี 4 ช่อง แต่ละช่องมีออวุลเม็ดเดียว ก้านเกสรเพศเมียเรียวยาว ยอดเกสรจัก 2 พู ผลผนังชั้นในแข็ง มี 2–4 ไพรีน แต่ละไพรีนมีเมล็ดเดียว

สกุล Clerodendrum เดิมอยู่ภายใต้วงศ์ Verbenaceae ปัจจุบันอยู่วงศ์ย่อย Ajugoideae มีประมาณ 150 ชนิด ส่วนมากพบในแอฟริกาและเอเชีย ในไทยมีประมาณ 30 ชนิด หลายชนิดเป็นไม้ประดับ บางชนิดย้ายไปอยู่สกุล Rotheca ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก “kleros” โอกาสหรือโชคชะตา และ “dendron” ต้นไม้ หมายถึงต้นไม้แห่งโอกาสที่หลายชนิดมีสรรพคุณด้านสมุนไพร


นางแย้ม
วันที่ 28 พฤศจิกายน 2559

Clerodendrum chinense (Osbeck) Mabb.

Lamiaceae

ไม้พุ่ม สูงได้ถึง 2 ม. กิ่งมีช่องอากาศ มีขนสั้นนุ่มตามกิ่ง แผ่นใบด้านล่าง และก้านใบ ใบรูปไข่กว้างหรือรูปหัวใจ ยาว 10–30 ซม. ปลายแหลมยาว โคนตัดหรือเว้าตื้น ขอบจักซี่ฟัน แผ่นใบด้านบนสาก มีต่อมหลายต่อมใกล้โคน ก้านใบยาว 3–20 ซม. ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนงแบบช่อเชิงหลั่น ก้านช่อสั้น ใบประดับรูปใบหอก ยาว 1.5–3 ซม. มีต่อมและขนสั้นนุ่ม กลีบเลี้ยงรูปสามเหลี่ยมแคบ ยาว 1.5–1.7 ซม. สีม่วงแกมเขียว ดอกสีขาวอมชมพูหรืออมม่วง บางครั้งซ้อนกันหลายกลีบ หลอดกลีบดอกยาวประมาณ 1 ซม. กลีบรูปรีหรือรูปไข่กว้าง ยาวประมาณ 1.5 ซม. เกสรเพศผู้อันยาว ยาวประมาณ 3 ซม. ผลมีกลีบเลี้ยงหุ้ม เส้นผ่านศูนย์กลาง 0.8–1 ซม. มี 2–4 พู สุกสีน้ำเงินดำ

พบที่อินเดีย พม่า จีนตอนใต้ ในไทยพบกระจายห่าง ๆ ทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่เลย ขึ้นตามป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขา ความสูงถึงประมาณ 1500 เมตร ส่วน var. chinense มีถิ่นกำเนิดในจีน เป็นไม้ประดับ มีกลีบซ้อน มักไม่ติดผล อาจกลายพันธุ์มาจาก var. simplex (Moldenke) S.L.Chen ที่มีกลีบดอก 5–6 กลีบ หลอดกลีบดอก เกสรเพศผู้ และเกสรเพศเมียยาวกว่า ลำต้นและใบมีขนสั้นนุ่มหนาแน่น

ชื่อพ้อง  Cryptanthus chinensis Osbeck, Clerodendrum fragrans Willd.

ชื่อสามัญ  Chinese glory bower

ชื่ออื่น   กะอุมเปอ (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี); นางแย้ม (ทั่วไป); ปิ้งช้อน, ปิ้งชะมด, ปิ้งสมุทร (ภาคเหนือ); ปิ้งหอม (ภาคกลาง); ส้วนใหญ่ (นครราชสีมา)

นางแย้ม: กลีบดอกซ้อน หลอดกลีบดอก เกสรเพศผู้ และเกสรเพศเมียสั้น (ภาพ: สุคนธ์ทิพย์ ศิริมงคล); และ var. simplex กลีบดอกไม่ซ้อน หลอดกลีบ เกสรเพศผู้ และเกสรเพศเมียยาวกว่า (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)

นางแย้มใต้ช่อห้อย
วันที่ 28 พฤศจิกายน 2559

Clerodendrum deflexum Wall.

Lamiaceae

ดูที่ นางแย้มช่อห้อย

นางแย้มจีน
วันที่ 28 พฤศจิกายน 2559

Clerodendrum bungei Steud.

Lamiaceae

ไม้พุ่ม สูง 1–2 ม. กิ่งมีช่องอากาศกระจาย ใบรูปไข่กว้าง ยาว 8–20 ซม. แผ่นใบและก้านใบมีขนสั้นนุ่ม ด้านล่างมีต่อมใกล้โคน ขอบจักฟันเลื่อย ก้านใบยาว 4–17 ซม. ช่อดอกแบบช่อกระจุกแน่น ใบประดับรูปใบหอกแกมรูปไข่ ยาวประมาณ 3 ซม. ใบประดับย่อยสั้นกว่าประมาณกึ่งหนึ่ง ร่วงเร็ว หลอดกลีบเลี้ยงยาว 2–6 มม. มีขนสั้นนุ่ม และต่อมรูปโล่กระจาย กลีบรูปสามเหลี่ยม ยาวได้ถึง 1 ซม. ดอกสีชมพูอมแดงหรือม่วง หลอดกลีบดอกยาว 2–3 ซม. กลีบรูปไข่กลับ ยาว 5–8 มม. ผลเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.6–1.2 ซม. สุกสีม่วงอมดำ

มีถิ่นกำเนิดในจีน และเวียดนาม เป็นไม้ประดับ ใบมีสรรพคุณฆ่าพยาธิ แก้อักเสบ ขับลม แยกเป็น var. megacalyx C.Y.Wu ex S.L.Chen กลีบเลี้ยงยาวกว่า

ชื่อสามัญ   Glory Flower, Rose glorybower, Cashmere Bouquet, Mexican Hydrangea, Glory Bower

นางแย้มจีน: ช่อดอกแบบช่อกระจุกแน่น ดอกสีชมพูอมแดงหรือม่วง (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)

นางแย้มช่อห้อย
วันที่ 28 พฤศจิกายน 2559

Clerodendrum deflexum Wall.

Lamiaceae

ไม้พุ่ม สูงได้ถึง 1.5 ม. มีขนสั้นนุ่มตามกิ่ง แผ่นใบด้านล่าง ใบรูปไข่กลับหรือรูปใบหอก ยาว 15–40 ซม. ปลายแหลมยาวหรือยาวคล้ายหาง ก้านใบยาว 2.5–6 ซม. ช่อดอกแบบช่อกระจุกแน่น ออกตามซอกใบ ห้อยลง ก้านช่อยาว 2.5–7.5 ซม. ใบประดับและใบประดับย่อยสีแดง ก้านดอกสั้น กลีบเลี้ยงเชื่อมติดประมาณ 2 มม. กลีบรูปสามเหลี่ยมแคบ ยาว 5–8 มม. ปลายแฉกสีแดง ติดทน ดอกสีขาว หลอดกลีบดอกยาว 1.5–2 ซม. กลีบดอกรูปใบหอก ยาว 6–7 มม. เกสรเพศผู้ยื่นเลยพ้นปากหลอดกลีบ ผลเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 5 มม. เกลี้ยง

พบที่คาบสมุทรมลายู ชวา บอร์เนียว และภาคใต้ตอนล่างของไทยที่ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ขึ้นตามป่าดิบชื้น ความสูงระดับต่ำ ๆ

ชื่ออื่น   นางแย้มช่อห้อย, นางแย้มใต้ช่อห้อย (ทั่วไป)

นางแย้มช่อห้อย: ช่อดอกแบบช่อกระจุกแน่น ออกตามซอกใบ ห้อยลง กลีบเลี้ยงรูปสามเหลี่ยมแคบ ปลายแฉกสีแดง ติดทน (ภาพ: มนตรี ธนรส)

นางแย้มดอย
วันที่ 28 พฤศจิกายน 2559

Clerodendrum macrostachyum Turcz.

Lamiaceae

ไม้ล้มลุก สูง 30–100 ซม. มีขนสั้นนุ่มตามกิ่งอ่อน และแผ่นใบด้านล่าง มีขนต่อมตามช่อดอก ก้านดอก และกลีบดอกด้านนอก ใบรูปหัวใจกว้าง บางครั้งมี 3–5 แฉก ยาว 5–13 ซม. ขอบจักฟันเลื่อย แผ่นใบมีเกล็ดรูปโล่ประปรายทั้งสองด้าน ก้านใบยาว 3.5–10 ซม. ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนงตรงข้ามสลับตั้งฉาก ยาว 15–30 ซม. แต่ละช่อกระจุกมี 3–5 ดอก ใบประดับรูปไข่ ยาว 0.5–2 ซม. ร่วงเร็ว ใบประดับย่อยรูปแถบขนาดเล็ก ก้านดอกยาว 1–1.7 ซม. มีขนยาว หลอดกลีบเลี้ยงยาวประมาณ 2 มม. ปลายแยกเป็นแฉกตื้น ๆ มีเกล็ดรูปโล่ ดอกสีม่วงอ่อน หลอดกลีบดอกยาว 5–7 มม. กลีบดอกยาว 3–5 มม. กลีบปากกว้างกว่ากลีบด้านข้างเล็กน้อย เกสรเพศผู้ยาวประมาณ 1.5 ซม. อันสั้นยาวประมาณ 1 ซม. รังไข่มีต่อมหนาแน่น ก้านเกสรเพศเมียโค้งลงตามเกสรเพศผู้ ยาว 1.5–1.7 ซม.

พบที่อินเดีย จีนตอนใต้ เวียดนามตอนบน และภาคเหนือของไทยที่ดอยเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ และดอยตุง จังหวัดเชียงราย ขึ้นใต้ร่มเงาบนหินปูน ความสูง 1000–1800 เมตร

ชื่อพ้อง  Clerodendrum subscaposum Hemsl.

ชื่ออื่น   นางแย้มดอย, นางแย้มดอยดอกเล็ก (ทั่วไป)

นางแย้มดอย: ใบรูปหัวใจกว้าง ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนงตรงข้ามสลับตั้งฉาก แต่ละช่อกระจุกมี 3–5 ดอก มีขนต่อมตามช่อดอก ก้านดอก และกลีบดอกด้านนอก (ภาพ: ปรีชา การะเกตุ)

นางแย้มดอยดอกเล็ก
วันที่ 28 พฤศจิกายน 2559

Clerodendrum macrostachyum Turcz.

Lamiaceae

ดูที่ นางแย้มดอย

นางแย้มป่า
วันที่ 28 พฤศจิกายน 2559

Clerodendrum infortunatum L.

Lamiaceae

ไม้พุ่ม สูงได้ถึง 4 ม. ตามข้อไม่มีแถบขน ใบรูปไข่กว้างหรือรูปหัวใจ ยาว 6–25 ซม. โคนกลมหรือรูปหัวใจ ขอบจักซี่ฟัน แผ่นใบมีขนสั้นนุ่ม ด้านล่างไม่มีต่อมรูปโล่ ก้านใบยาว 1.5–15 ซม. ช่อดอกตั้งตรง ยาวได้ถึง 60 ซม. กลีบเลี้ยงยาว 1–1.5 ซม. ไม่มีต่อมขน ดอกสีขาว หลอดกลีบดอกยาว 1.5–2 ซม. ปากหลอดมีขนสั้นนุ่มและมีปื้นสีชมพูอมม่วง กลีบดอกยาว 1–1.5 ซม. เกสรเพศผู้ยาว 2.5–4 ซม. ผลเส้นผ่านศูนย์กลาง 1–1.2 ซม. สุกสีดำ กลีบเลี้ยงขยายในผล ติดทน สีแดง ยาว 2–2.5 ซม.

พบที่อินเดีย ศรีลังกา พม่า ลาว เวียดนาม และภูมิภาคมาเลเซีย ในไทยพบทุกภาค ขึ้นตามป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง หรือเขาหินปูน ความสูงถึงประมาณ 1100 เมตร ใบและรากใช้รักษาผมร่วง แก้ไอ โรคหอบ ขับปัสสาวะ

ชื่อสามัญ  Hill glory bower

ชื่ออื่น   กุ๋มคือ (สุโขทัย); ขัมพี (พิษณุโลก); ขี้ขม (ภาคใต้); ชมพี, ซมซี (สุโขทัย); ต่างไก่แดง (ขอนแก่น); นมสวรรค์ (ภาคกลาง, ภาคใต้); นางแย้มป่า (พิษณุโลก); ปิ้ง, ปิ้งแดงดอกขาว, ปิ้งเห็บ (เชียงใหม่); พนมสวรรค์ป่า (ทั่วไป); โพะคว่อง (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี); สาวยิ้ม (ทั่วไป); ฮวนฮ่อ, ฮอนห้อแดง (เลย)

นางแย้มป่า: โคนใบกลมหรือรูปหัวใจ ขอบใบจักซี่ฟัน กลีบเลี้ยงขยายในผล ติดทนสีแดง (ภาพ: มนตรี ธนรส, สุคนธ์ทิพย์ ศิริมงคล)



เอกสารอ้างอิง

Chen, S.L. and M.G. Gilbert. (1994). Verbenaceae (Clerodendrum). In Flora of China Vol. 17: 39.

Leeratiwong, C. and P. Chantaranothai. (2001). Clerodendrum subscaposum Hemsl. (Lamiaceae), a new record for Thailand. Thai Forest Bulletin (Botany) 29: 25–28.

Leeratiwong, C., P. Chantaranothai and A. Paton. (2011). A synopsis of the genus Clerodendrum L. (Lamiaceae) in Thailand. Tropical Natural History 11(2): 177–211.

Ridley, H.N. (1923, reprinted 1967). Verbenaceae. Flora of the Malay Peninsula Vol. 2: 624–625.