สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

นาคราช

นาคราช  สกุล
วันที่ 28 พฤศจิกายน 2559

Davallia Sm.

Davalliaceae

เฟินอิงอาศัยหรือขึ้นบนพื้นดิน เหง้าทอดเลื้อย เกล็ดรูปโล่สีเข้ม ใบประกอบ 2–4 ชั้น เรียงห่าง ๆ ใบมีแบบเดียวหรือสองแบบ แผ่นใบรูปสามเหลี่ยม หนา เกลี้ยง ก้านใบยาว บางครั้งมีปีกแคบ ๆ ใบประกอบย่อยช่วงโคนขนาดใหญ่กว่าช่วงปลาย ขอบใบย่อยจักมนหรือจักเป็นพู เส้นแขนงใบแตกเป็นง่าม ไม่เชื่อมติดกัน กลุ่มอับสปอร์ติดที่ปลายเส้นแขนงใบด้านล่าง รูปกลม มีเยื่อคลุม หันออกตามยาว ติดที่โคนและด้านข้าง เซลล์ผนังหนา สปอร์มีรอยเชื่อมเดียว

สกุล Davallia มีประมาณ 40 ชนิด พบตามหมู่เกาะในมหาสมุทรแอตแลนติก แอฟริกา เอเชีย ออสเตรเลีย และหมู่เกาะแปซิฟิก ในไทยมี 11 ชนิด ชื่อสกุลตั้งตามนักพฤกษศาสตร์ชาวสวีเดน Edmund Davall (1763–1798)


นาคราช
วันที่ 28 พฤศจิกายน 2559

Davallia denticulata (Burm.f.) Mett. ex Kuhn

Davalliaceae

เฟินอิงอาศัย เหง้าหนา เกล็ดเรียวยาว ใบประกอบยาว 60–90 ซม. กว้างประมาณ 50 ซม. ปลายเรียวแหลม ก้านใบแข็ง ยาว 30–50 ซม. ใบประกอบย่อยยาว 8–45 ซม. ใบประกอบย่อยที่สามยาวได้ถึง 20 ซม. ก้านสั้นหรือไร้ก้านช่วงปลายใบ ใบย่อยรูปขอบขนาน ยาว 2–3 ซม. ปลายแหลมมน กลม หรือตัด โคนเบี้ยว ขอบจักเป็นพู กว้างประมาณ 4 มม. มีเส้นใบแซม กลุ่มอับสปอร์ติดที่ปลายเส้นแขนงใบใกล้ขอบใบ มีเยื่อคลุมรูปถ้วย ยาวประมาณ 0.7 มม.

พบที่แอฟริกา มาดากัสการ์ อินเดีย ศรีลังกา ไห่หนาน พม่า ภูมิภาคอินโดจีนและมาเลเซีย ออสเตรเลีย และหมู่เกาะแปซิฟิก ในไทยพบทุกภาค ขึ้นตามต้นไม้และโขดหินในป่าดิบแล้ง ป่าดิบชื้น และป่าพรุ ความสูงถึงประมาณ 500 เมตร

ชื่อพ้อง  Adiantum denticulatum Burm.f.

ชื่อสามัญ  Rabbit’s foot fern

นาคราช: เฟินอิงอาศัย ใบประกอบหลายชั้น ใบย่อยจักเป็นพู กลุ่มอับสปอร์ติดที่ปลายเส้นแขนงใบใกล้ขอบใบ มีเยื่อคลุมรูปถ้วย (ภาพ: David Middleton, ธรรมรัตน์ พุทธไทย)

นาคราชเกล็ดน้ำตาล
วันที่ 28 พฤศจิกายน 2559

Davallia trichomanoides Blume var. lorrainii (Hance) Holttum

Davalliaceae

เฟินอิงอาศัย เหง้าเส้นผ่านศูนย์กลาง 3–5 มม. เกล็ดคอดเหนือโคนเรียวยาวคล้ายหาง ขอบมีขนยาว ใบประกอบรูปสามเหลี่ยมมน เรียวแคบ ยาว 10–35 ซม. ก้านใบยาวได้ถึง 10 ซม. ก้านใบประกอบย่อยแต่ละชั้นมีก้านสั้น ๆ ช่วงโคน ช่วงปลายไร้ก้าน ใบประกอบย่อยยาวได้ถึง 19 ซม. แต่ส่วนมากยาวประมาณ 10 ซม. ใบประกอบย่อยที่สามยาว 2–7 ซม. ใบย่อยยาว 0.5–2.5 ซม. ปลายแหลมมน ขอบเว้าหรือจักตื้น ๆ ไม่มีเส้นใบแซม เนื้อใบแข็ง กลุ่มอับสปอร์ติดที่ปลายเส้น แขนงใบ เยื่อคลุมรูปถ้วย ยาวประมาณ 2 มม.

พบที่พม่า ภูมิภาคอินโดจีนและมาเลเซีย ในไทยพบทุกภาค ขึ้นตามโขดหินหรืิอต้นไม้ที่มีมอสเกาะ ในป่าดิบแล้ง ป่าดิบชื้น และป่าดิบเขา ความสูง 800–1400 เมตร ส่วน var. trichomanoides เกล็ดเรียวแคบจากโคน ปลายแหลมยาว เกลี้ยงหรือมีขนสั้น ๆ ตามขอบ ใบย่อยจักลึกเกินกึ่งหนึ่ง ในไทยพบกระจายห่าง ๆ ทางภาคเหนือและภาคใต้ เหง้าใช้เป็นยาถ่ายพยาธิ

ชื่อพ้อง  Davallia lorrainii Hance

นาคราชเกล็ดน้ำตาล: ใบประกอบรูปสามเหลี่ยมมน ก้านใบประกอบย่อยแต่ละชั้นมีก้านสั้น ๆ ช่วงโคน ช่วงปลายไร้ก้าน ใบย่อยขอบเว้าหรือจักตื้น ๆ (ภาพ: ปรีชา การะเกตุ)



เอกสารอ้างอิง

Lindsay, S. and D.J. Middleton. (2012 onwards). Ferns of Thailand, Laos and Cambodia. http://rbg-web2.rbge.org.uk/thaiferns/

Tagawa, M. and K. Iwatsuki. (1985). Davalliaceae. In Flora of Thailand Vol. 3(2): 157–164.

Xing, F., W. Faguo and H.P. Nooteboom. (2013). Davalliaceae. In Flora of China Vol. 2–3: 752–754.