สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

นนทรี

นนทรี  สกุล
วันที่ 28 พฤศจิกายน 2559

Peltophorum (Vogel) Benth.

Fabaceae

ไม้ต้น ใบประกอบ 2 ชั้น ใบประกอบย่อยและใบย่อยเรียงตรงข้าม ช่อดอกแบบช่อกระจะหรือช่อแยกแขนง มีใบประดับแต่ไม่มีใบประดับย่อย ฐานดอกสั้น กลีบเลี้ยงมี 5 กลีบ เรียงซ้อนเหลื่อม ดอกสีเหลือง มี 5 กลีบ ขนาดเท่า ๆ กัน มีก้านกลีบสั้น ๆ เกสรเพศผู้ 10 อัน แยกกัน ก้านชูอับเรณูมีกระจุกขนยาวที่โคน รังไข่ไร้ก้านหรือมีก้านสั้น ๆ ก้านเกสรเพศเมียรูปเส้นด้าย ยอดเกสรรูปโล่ ฝักรูปขอบขนานหรือรูปใบหอก แบน ขอบบางคล้ายมีปีก มี 1–8 เมล็ด

สกุล Peltophorum อยู่ภายใต้วงศ์ย่อย Caesalpinioideae เคยอยู่ภายใต้สกุล Caesalpinia sect. Peltophorum Vogel มี 12–15 ชนิด ส่วนใหญ่พบในอเมริกาและแอฟริกา ในไทยมี 2 ชนิด ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก “pelte” คุ้ม และ “phoros” ที่รองรับ ตามลักษณะยอดเกสรเพศเมียแผ่กว้าง


นนทรี
วันที่ 28 พฤศจิกายน 2559

Peltophorum pterocarpum (DC.) Backer ex K.Heyne

Fabaceae

ไม้ต้นผลัดใบ สูงได้ถึง 25 ม. มีขนสีน้ำตาลแดงตามกิ่งอ่อน ช่อดอก และกลีบเลี้ยงด้านนอก หูใบยาว 1–2 มม. ใบประกอบยาว 25–30 ซม. ใบประกอบย่อยมี 4–13 คู่ ใบย่อยมี 10–22 คู่ รูปขอบขนานแกมรูปไข่ ยาว 1.2–1.8 ซม. ปลายกลม เว้าตื้น โคนเบี้ยว แผ่นใบมีขนสั้นนุ่มด้านล่าง ไร้ก้าน ช่อดอกแบบช่อแยกแขนงออกที่ปลายกิ่ง ยาว 20–40 ซม. ใบประดับยาว 5–8 มม. ร่วงเร็ว ก้านดอกยาว 5–7 มม. ตาดอกกลม กลีบเลี้ยงรูปรี ยาว 5–8 มม. กลีบดอกรูปไข่กลับ โคนและก้านกลีบมีขน ก้านชูอับเรณูยาว 1.2–1.5 ซม. รังไข่มีก้านสั้น ๆ มีขน ฝักรูปใบหอก ปลายแหลม โคนเรียวแคบ ยาวได้ถึง 12 ซม. ขอบมีปีกกว้าง 4–5 มม. มี 1–4 เมล็ด เรียงตามยาว

พบที่กัมพูชา เวียดนามตอนใต้ และภูมิภาคมาเลเซีย ในไทยพบตามชายฝั่งทะเล และป่าโปร่งหลังป่าโกงกาง เป็นไม้ประดับ ในอินโดนีเซียเปลือกใช้ย้อมผ้าบาติก

ชื่อพ้อง  Inga pterocarpa DC., Peltophorum inerme (Roxb.) Náves ex Fern.-Vill.

ชื่อสามัญ  Copper pod, Yellow flame, Yellow poinciana

ชื่ออื่น   กระถินแดง, กระถินป่า (ตราด); นนทรี (ทั่วไป); สารเงิน (แม่ฮ่องสอน)

นนทรี: ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกที่ปลายกิ่ง ฝักรูปใบหอก ปลายแหลม โคนเรียวแคบ (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)

นนทรีป่า
วันที่ 28 พฤศจิกายน 2559

Peltophorum dasyrhachis (Miq.) Kurz

Fabaceae

ไม้ต้นผลัดใบ สูงได้ถึง 30 ม. มีขนสีน้ำตาลแดงตามกิ่งอ่อน แกนช่อ หูใบยาวได้ถึง 1 ซม. แยกสองแฉก แต่ละแฉกแยกแบบขนนก ใบประกอบยาว 15–40 ซม. ใบประกอบย่อยมี 5–9 คู่ ใบย่อยมี 6–16 คู่ รูปขอบขนาน ยาว 1–2.5 ซม. ปลายเว้าตื้น แผ่นใบมีขนสั้นนุ่มด้านล่าง ไร้ก้าน ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ยาว 15–30 ซม. ใบประดับรูปลิ่มแคบ ยาว 7–9 มม. ติดทน ก้านดอกยาว 2–4 ซม. ตาดอกรูปไข่ กลีบเลี้ยงรูปรี ยาวประมาณ 1 ซม. ด้านนอกมีขน กลีบดอกรูปไข่กลับ โคนมีขนจรดก้านกลีบด้านบน ก้านชูอับเรณูยาว 1–1.5 ซม. รังไข่ไร้ก้าน มีขนละเอียด ฝักรูปใบหอก ปลายและโคนแหลม ยาว 10–15 ซม. ขอบมีปีกกว้าง 4–5 มม. มี 4–8 เมล็ด เรียงตามขวาง

พบที่ภูมิภาคอินโดจีน คาบสมุทรมลายู และสุมาตรา ในไทยส่วนมากพบทางภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงใต้ ขึ้นตามป่าดิบแล้ง และป่าดิบชื้น ความสูงระดับต่ำ ๆ เป็นไม้ประดับและไม้สวนป่า แยกเป็น var. tonkinense (Pierre) K.Larsen & S.S.Larsen ช่อดอกและก้านดอกสั้นกว่า มี 3–4 เมล็ด พบที่ไห่หนาน และภูมิภาคอินโดจีน ซึ่งใน Flora of China มีสถานะภาพเป็นชนิด

ชื่อพ้อง  Caesalpinia dasyrhachis Miq.

ชื่ออื่น   กว่าแซก (เขมร-กาญจนบุรี); คางรุ้ง, คางฮุ่ง (พิษณุโลก); จ๊าขาม, ช้าขม (เลย); ตาเซก (เขมร-บุรีรัมย์); นนทรี (ภาคกลาง); ราง (ส่วย-สุรินทร์); ร้าง, อะราง, อะล้าง (นครราชสีมา, อุดรธานี); อินทรี (จันทบุรี)

นนทรีป่า: หูใบยาว แยกสองแฉก แต่ละแฉกแยกแบบขนนก ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ใบประดับรูปลิ่มแคบ ติดทน เกสรเพศผู้ 10 อัน แยกกัน รังไข่มีขนละเอียด (ภาพ: สุคนธ์ทิพย์ ศิริมงคล)



เอกสารอ้างอิง

Chen, D., D. Zhang and D. Hou. (2010). Fabaceae (Peltophorum). In Flora of China Vol. 10: 39–40.

Larsen, K., S.S. Larsen and J.E. Vidal. (1984). Leguminosae-Caesalpinioideae. In Flora of Thailand Vol. 4(1): 53–56.