สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

นกนอน

นกนอน  สกุล
วันที่ 28 พฤศจิกายน 2559

Cleistanthus Hook.f. ex Planch.

Phyllanthaceae

ไม้พุ่มหรือไม้ต้น แยกเพศร่วมต้นหรือต่างต้น ใบเรียงเวียนหรือเกือบตรงข้าม ดอกออกเป็นกระจุกหรือเป็นช่อสั้น ๆ ตามซอกใบ หรือตามกิ่ง ใบประดับขนาดเล็กมีหลายใบ กลีบเลี้ยงและกลีบดอกส่วนมากมี 5 กลีบ ดอกเพศผู้คล้ายดอกเพศเมีย กลีบดอกขนาดเล็กกว่ากลีบเลี้ยง จานฐานดอกเป็นวง เกสรเพศผู้ 5 อัน ก้านชูอับเรณูเชื่อมติดกันประมาณกึ่งหนึ่ง เกสรเพศเมียเป็นหมันในดอกเพศผู้ เรียวยาว รังไข่มี 3 ช่อง ก้านชูอับเรณูสั้น ยอดเกสรเพศเมียมี 3 แฉก ปลายแฉกจัก 2 พู ผลแห้งแตก รูปกลม ๆ มี 3 พู แกนกลางติดทน มี 1–2 เมล็ดในแต่ละซีก รูปไข่แกมสามเหลี่ยม

สกุล Cleistanthus เคยอยู่ภายใต้วงศ์ Euphorbiaceae มีประมาณ 140 ชนิด พบในแอฟริกา เอเชีย และออสเตรเลีย ในไทยมี 15 ชนิด ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก “kleistos” ใกล้ และ “anthos” ดอก หมายถึงดอกออกใกล้กันเป็นกระจุก


นกนอน
วันที่ 28 พฤศจิกายน 2559

Cleistanthus tomentosus Hance

Phyllanthaceae

ไม้พุ่ม สูงได้ถึง 5 ม. มีขนหยาบตามกิ่งอ่อน ขนสั้นนุ่มตามใบประดับ ก้านใบ และแผ่นใบด้านล่าง หูใบรูปสามเหลี่ยมแคบ ยาว 3–6 มม. ใบรูปขอบขนาน ยาว 5–15.5 ซม. ก้านใบยาว 5–7 มม. ดอกออกเป็นกระจุก สีเขียวอ่อน ไร้ก้านหรือมีก้านสั้น ๆ ใบประดับรูปไข่ ยาว 1–2 มม. กลีบเลี้ยงรูปขอบขนาน ยาว 2–4.5 มม. ในดอกเพศเมียยาวได้ถึง 8 มม. กลีบดอกบาง รูปพัด ยาวประมาณ 1 มม. มีติ่งแหลม จานฐานดอกเรียบหรือจักมน เกสรเพศผู้ยาวประมาณ 1 มม. เกสรเพศเมียที่เป็นหมันรูปสามเหลี่ยม ยาวประมาณ 0.5 มม. ผลแห้งแตก มี 3 พู เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 9 มม. ก้านผลยาวประมาณ 5 มม.

พบที่จีนตอนใต้ กัมพูชา และเวียดนาม ในไทยพบทางภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงใต้ ขึ้นตามป่าดิบแล้ง และป่าดิบชื้น ความสูงถึงประมาณ 400 เมตร

ชื่ออื่น   นกนอน (นครนายก); นวลแป้ง (ระยอง, ตราด); ไม้แป้ง (ตราด)

นกนอน: ก้านผลยาว (ภาพ: นันท์นภัส ภัทรหิรัญไตรสิน)

นกนอน
วันที่ 28 พฤศจิกายน 2559

Cleistanthus helferi Hook.f.

Phyllanthaceae

ไม้พุ่มหรือไม้ต้น สูงได้ถึง 10 ม. มีขนหยาบตามกิ่งอ่อน ก้านใบ เส้นแขนงใบ และเส้นกลางใบ มีขนสั้นนุ่มตามใบประดับ กลีบเลี้ยงด้านนอก รังไข่ และผล หูใบรูปสามเหลี่ยมแคบ ยาว 5–6 มม. ขอบมีขน ใบรูปขอบขนานหรือแกมรูปไข่ ยาว 2–17 ซม. โคนใบมน ก้านใบยาว 3–5 มม. ดอกออกเป็นกระจุก 1–6 ดอก สีเขียวอ่อน ไร้ก้าน ใบประดับรูปไข่ ยาว 3–4 มม. กลีบเลี้ยงรูปรี ยาว 0.4–1 ซม. กลีบดอกบาง จักลึก 2–3 พู ยาวประมาณ 1.5 มม. ขอบจัก จานฐานดอกจักเป็นพู เกสรเพศผู้ยาวประมาณ 2.5 มม. ผลแห้งแตก มี 3 พู เส้นผ่านศูนย์กลาง 1–1.5 ซม.

พบที่พม่าและคาบสมุทรมลายู ในไทยพบทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ และภาคใต้ ขึ้นตามป่าดิบแล้ง และป่าดิบชื้น ความสูงถึงประมาณ 1000 เมตร

นกนอน: ดอกออกเป็นกระจุก ไร้ก้าน กิ่งอ่อนและก้านใบมีขนหยาบ ผลจัก 3 พู (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)



เอกสารอ้างอิง

Li, B. and S. Dressler. (2008). Euphorbiaceae (Cleistanthus). In Flora of China Vol. 11: 172–173.

Roisungnern, K. and K. Chayamarit. (2005). Euphorbiaceae (Cleistanthus). In Flora of Thailand Vol. 8(1): 167–182.