สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

ทุเรียน

ทุเรียน
วันที่ 23 พฤษภาคม 2561

Durio zibethinus L.

Malvaceae

ไม้ต้น สูงได้ถึง 45 ม. มีเกล็ดรังแคสีน้ำตาลอมเหลืองตามกิ่งอ่อน ก้านใบ แผ่นใบด้านล่าง ช่อดอก ริ้วประดับ กลีบเลี้ยงด้านนอก และรังไข่ หูใบรูปลิ่มแคบ ร่วงเร็ว ใบเรียงเวียน รูปขอบขนาน ยาว 10–25 ซม. ปลายแหลมยาว โคนมน เส้นแขนงใบข้างละ 9–14 เส้น เรียงจรดกันใกล้ขอบใบ แผ่นใบด้านล่างมีเกล็ดมีเงิน เหลือง หรืออมแดง ก้านใบยาว 1–2 ซม. ดอกออกเป็นกระจุกตามกิ่ง มีได้ถึง 30 ดอก ดอกสีขาวครีม บานช่วงบ่ายถึงกลางคืน กลีบเลี้ยงและกลีบดอกมีจำนวนอย่างละ 5 กลีบ ใบประดับหุ้มดอกตูม ก้านดอกหนา ยาว 5–6 ซม. ใบประดับรูปไข่ แยกเป็น 2–3 ส่วน ในดอกบาน ยาวประมาณ 1.5 ซม. ร่วงเร็ว กลีบเลี้ยงเป็นหลอด ยาวประมาณ 2 ซม. กลีบดอกรูปใบพาย ยาวประมาณ 4 ซม. ด้านนอกมีขนประปราย ในสายพันธุ์อื่น ๆ อาจมี 4 หรือ 6 กลีบ เกสรเพศผู้จำนวนมาก เชื่อมติดกันเป็น 5 มัด อับเรณูมีช่องเดียว ติดที่โคน อับเรณูโค้ง บิดเป็นเกลียว รังไข่เหนือวงกลีบ มี 5 ช่อง ผลแห้งแตกเป็น 5 พู รูปรีหรือรูปขอบขนาน ยาวได้ถึง 30 ซม. มีหนามแข็ง เมล็ดมีเยื่อหุ้ม มีกลิ่นหอมแรง
มีถิ่นกำเนิดในมาเลเซียและอินโดนีเซีย นักพฤกษศาสตร์บางท่านระบุว่าไม่พบทุเรียนในธรรมชาติ ปลูกเป็นไม้ผลทั่วไปในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จีน อินเดีย และออสเตรเลีย มีมากกว่า 100 สายพันธุ์ เมล็ดทุเรียนนำไปเผาหรือต้มกินได้ ใบ ผล และรากมีสรรพคุณด้านสมุนไพรหลายอย่าง เช่นช่วยลดไข้ แก้ดีซ่าน และโรคผิวหนัง เนื้อไม้ใช้ในการก่อสร้างที่ไม่ต้องการความแข็งแรงและคงทนมากนัก ชื่อชนิดมาจากชื่อของชะมด (Viverra zibetha) หมายถึงกลิ่นฉุนคล้ายตัวชะมด หรือหมายถึงตัวชะมดชอบกินทุเรียน หรืออาจเป็นการใช้ผลทุเรียนในการดักจับตัวชะมด บางข้อมูลให้ชื่อ Durio zibethinus Murr. เป็นชื่อที่ถูกต้อง เนื่องจาก J.M. Murray เป็นผู้ปรับปรุงงานเขียน “Systema Vegetabilium Secundum Classes Ordines Genera Species cum Characteribus et Differentiis. Editio decima tertia. Gottingae [Göttingen]” หรือ “Syst. Veg. ed. (1774) ของ Linnaeus ที่ตีพิมพ์ชื่อทุเรียน เป็นครั้งแรก อย่างไรก็ตาม D. zibethinus L. ถือว่าเป็นชื่อที่ถูกต้อง เพราะ Linnaeus เป็นผู้รับผิดชอบในการปรับปรุงแก้ไขนี้ด้วย

สกุล Durio L. เคยอยู่ภายใต้วงศ์ Bombacaceae ปัจจุบันอยู่ภายใต้วงศ์ย่อย Helicteroideae ร่วมกับอีกหลายสกุล เช่น Reevesia พบเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีประมาณ 30 ชนิด เฉพาะบอร์เนียวมีกว่า 20 ชนิด 15 ชนิดเป็นพืชถิ่นเดียว มีอีกหลายชนิดนอกเหนือจากทุเรียนที่กินได้ เช่น Durio dulcis Becc., D. grandiflorus (Mast.) Kosterm. & Soegeng, D. graveolens Becc., D. kutejensis (Hassk.) Becc., D. lowianus Scort. ex King, D. oxleyanus Griff. และ D. testudinarum Becc. อย่างไรก็ตาม ทุเรียนป่าส่วนมากไร้กลิ่น ช่อดอกส่วนมากออกตามกิ่งหรือลำต้น มีเพียง D. griffithii (Mast.) Bakh. ที่พบออกตามซอกใบ เนื่องจากมีผลขนาดเล็ก ในไทยมีทุเรียนป่าประมาณ 5 ชนิด คือ ทุเรียนรากเขา D. graveolens Becc. ทุเรียนนก D. griffithii (Mast.) Bakh. กาเรียน D. lowianus Scort. ex King ทุเรียนป่า D. mansoni (Gamble) Bakh. และ D. macrophyllus Ridl. ชื่อสกุลมาจากภาษามาเลย์ “duri” แปลว่า หนาม หมายถึงผลที่มีหนาม

ชื่อสามัญ  Durian

ชื่ออื่น   ดือแย (มาเลย์-ภาคใต้); ทุเรียน (ทั่วไป); เรียน (ภาคใต้)

ทุเรียน: มีเกล็ดรังแคสีน้ำตาลอมเหลืองกระจาย ดอกบานช่างกลางคืน เกสรเพศผู้จำนวนมาก เชื่อมติดกันเป็น 5 มัด ผลมี 5 พู มีหนามแข็ง (ภาพ: ปรีชา การะเกตุ, ราชันย์ ภู่มา)



เอกสารอ้างอิง

Brown, M. J. (1997). Durio – A Bibliographic Review. International Plant Genetic Resources Institute (IPGRI). ISBN 92-9043-318-3. Retrieved 2018-01-30.

Phengklai, C. (2005). Bombacaceae. In Flora of Thailand Vol. 9(1): 17–27.