สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

ทังใบขนภูวัว

ทังใบขนภูวัว
วันที่ 15 พฤศจิกายน 2559

Litsea phuwuaensis Ngerns.

Lauraceae

ไม้พุ่ม สูงได้ถึง 2.5 ม. แยกเพศต่างต้น มีขนยาวสีน้ำตาลแดงหนาแน่นตามกิ่งอ่อน แผ่นใบ ใบประดับ และดอก ใบเรียงเวียน รูปขอบขนานถึงรูปใบหอก หรือแกมรูปไข่กลับ ยาว 7–25 ซม. ปลายแหลมยาวหรือยาวคล้ายหาง แผ่นใบด้านล่างมีนวล ก้านใบยาว 0.3–1 ซม. ช่อดอกแบบช่อซี่ร่มออกเป็นกระจุกตามซอกใบหรือกิ่ง ก้านช่อสั้น ช่ออ่อนมีใบประดับหุ้ม 2 คู่ เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปไข่ ยาว 3.5–5 มม. ดอกเพศผู้และดอกเพศเมียคล้ายกัน กลีบรวม 4–6 กลีบ รูปขอบขนานหรือรูปใบหอก ยาว 2–2.5 มม. ก้านดอกยาว 1–2 มม. เกสรเพศผู้ 6–8 อัน เรียง 2 วง เป็นหมันในดอกเพศเมีย ก้านชูอับเรณูยาว 1.5–2.5 มม. มีขนยาว วงนอกยาวกว่าวงใน วงในมีต่อม 2 ต่อมที่โคน อับเรณูมี 4 ช่อง รังไข่เกลี้ยง ก้านเกสรเพศเมียยาว 1–2 มม. ผลรูปไข่ ยาว 0.8–1 ซม. ปลายมีติ่งแหลม หลอดกลีบที่ขยายอวบหนา ยาว 0.8–1.2 ซม. ก้านช่อผลยาวประมาณ 5 มม.

พืชถิ่นเดียวของไทย พบที่ภูวัว จังหวัดบึงกาฬ และภูลังกา จังหวัดนครพนม ขึ้นใต้ร่มเงาหรือริมลำธารในป่าดิบแล้ง ความสูง 150–200 เมตร

สกุล Litsea Lam. อยู่ภายใต้เผ่า Cinnamomeae มีเกือบ 400 ชนิด พบในอเมริกาเหนือและอเมริกากลาง เอเชียเขตร้อนและกึ่งเขตร้อน ออสเตรเลีย และหมู่เกาะแปซิฟิก ในไทยมี 35 ชนิด ลักษณะทั่วไปคล้ายสกุล Lindera ที่อับเรณูมี 2 ช่อง และ Neolitsea ที่อับเรณูมี 4 ช่อง แต่ส่วนต่าง ๆ ของดอกมีจำนวนสอง (dimerous) ซึ่งมีจำนวนสาม (trimerous) ในสกุล Litsea และ Lindera ชื่อสกุลมาจากภาษาจีน “litse” หมายถึงผลคล้ายผลพลัมขนาดเล็ก

ทังใบขนภูวัว: มีขนยาวสีน้ำตาลแดงหนาแน่น ช่อดอกแบบช่อซี่ร่มออกเป็นกระจุกตามซอกใบ ใบประดับมี 2 คู่ หลอดกลีบขยายอวบหนาในผล (ภาพ: นันทวรรณ สุปันตี, ปรีชา การะเกตุ)



เอกสารอ้างอิง

Ngernsaengsaruay, C. (2004). A new species of Litsea (Lauraceae) from Thailand. Thai Forest Bulletin (Botany) 32: 110–114.

Ngernsaengsaruay, C., D.J. Middleton and K. Chayamarit. (2011). A revision of the genus Litsea Lam. (Lauraceae) in Thailand. Thai Forest Bulletin (Botany) 39: 40–119.