สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

ทองแมว

ทองแมว
วันที่ 15 พฤศจิกายน 2559

Gmelina elliptica Sm.

Lamiaceae

ไม้พุ่มหรือรอเลื้อย มักมีหนามตามลำต้นและกิ่ง มีขนสั้นนุ่มหนาแน่นตามกิ่ง ก้านใบ แผ่นใบด้านล่าง ช่อดอก กลีบเลี้ยง และกลีบดอก ใบรูปรีหรือรูปไข่ หรือจักตื้น ๆ ด้านล่างมักมีเกล็ดรูปโล่และต่อมกระจาย เส้นแขนงใบข้างละ 3–4 เส้น ก้านใบยาว 0.5–3 ซม. ช่อดอกออกตามปลายกิ่ง ใบประดับรูปรีถึงรูปใบหอก ยาว 1–2 ซม. ร่วงเร็วหรือค่อนข้างติดทน กลีบเลี้ยงรูปถ้วย ยาว 3–5 มม. จักตื้น ๆ มีต่อมกระจาย ดอกสีเหลือง สมมาตรด้านข้าง หลอดกลีบดอกยาว 1–1.5 ซม. ปลายแยกเป็น 4 กลีบ ปลายพับงอกลับ กลีบล่าง 3 กลีบ กลีบกลางรูปสามเหลี่ยมกว้าง ยาว 0.5–1.3 ซม. กลีบข้างเล็กกว่า กลีบบน 1 กลีบยาวกว่ากลีบข้างเล็กน้อย เกสรเพศผู้ติดใกล้ปากหลอดกลีบ 2 คู่ยาวไม่เท่ากัน คู่ล่างยาวประมาณ 1.5 ซม. คู่บนยาว 1–1.8 ซม. รังไข่เกลี้ยง ก้านเกสรเพศเมียยาว 2–2.5 ซม. ผลผนังชั้นในแข็ง กลมหรือรูปไข่กว้าง ยาว 1–2 ซม. ส่วนมากมีเมล็ดเดียวที่เจริญ (ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ ที่ ซ้อ, สกุล)

พบที่หมู่เกาะอันดามันและนิโคบาร์ พม่า จีนตอนใต้ เวียดนาม ภูมิภาคมาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ในไทยส่วนมากพบทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ และภาคใต้ ขึ้นตามชายป่าดิบชื้น และป่าชายหาด ความสูงระดับต่ำ ๆ คล้ายกับคางแมว G. asiatica L. ต่างกันที่คางแมวแผ่นใบด้านล่างเกลี้ยงหรือมีขนประปรายตามเส้นแขนงใบ ใบบดประคบแก้ปวดหัว บวมอักเสบ ผลใช้ประคบแผล

ชื่อพ้อง  Gmelina villosa Roxb.

ชื่อสามัญ  Badhara bush

ชื่ออื่น   กระเบี้ยเหลือง (ศรีสะเกษ); คางแมว (ภาคกลาง, ภาคใต้); จิงจาย (นราธิวาส); ทองแมว (กาญจนบุรี); นมแมว (ราชบุรี, ภาคใต้)

ทองแมว: กิ่งและแผ่นใบมีขนสั้นนุ่ม ช่อดอกแบบช่อแยกแขนงออกตามปลายกิ่ง ใบประดับรูปรีถึงรูปใบหอก ค่อนข้างติดทน กลีบดอกสมมาตรด้านข้าง เกสรเพศผู้ 2 คู่ยาวไม่เท่ากัน ผลรูปไข่กว้าง (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)



เอกสารอ้างอิง

de Kok, R. (2012). A revision of the genus Gmelina (Lamiaceae). Kew Bulletin 67(3): 306–308.