ไม้พุ่ม ไม่มีหูใบ ใบประกอบเรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก ก้านใบยาว 3–6 ซม. ใบย่อยมี 2–4 คู่ รูปขอบขนานหรือรูปใบหอก ยาว 2.5–15 ซม. ขอบจักฟันเลื่อย ก้านใบสั้น ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามปลายกิ่ง ยาว 5–12 ซม. กลีบเลี้ยงรูปกรวย ยาว 5–8 มม. มี 5 กลีบรูปสามเหลี่ยม ยาว 2–3 มม. ดอกสีเหลือง รูปแตร ยาว 3.5–6 ซม. โคนหลอดกลีบแคบ ด้านในมีขนสั้น โคนมีต่อม มี 5 กลีบ เรียงซ้อนเหลื่อม รูปค่อนข้างกลม ยาว 1–1.5 ซม. เกสรเพศผู้ 2 คู่ยาวไม่เท่ากัน ไม่ยื่นพ้นปากหลอดกลีบ ก้านชูอับเรณูยาวประมาณ 2 ซม. อับเรณูแยกกัน กางออก มีขนสั้น มีเกสรเพศผู้ที่เป็นหมัน 1 อัน รังไข่มีปุ่มกระจาย ก้านเกสรเพศเมียยาว 1.8–2 ซม. ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็นแผ่นบาง 2 แฉก ผลแห้งแตกเป็น 2 ซีก รูปแถบ แบน ยาว 12–16 ซม. ปลายเรียวแหลม ผิวมีช่องอากาศ เมล็ดจำนวนมาก แบน รูปรี ยาวประมาณ 1 ซม. ขอบมีปีกบางใสประมาณ 1 ซม.
มีถิ่นกำเนิดในอเมริกาเขตร้อน เป็นไม้ประดับทั่วไปในเขตร้อน
สกุล Tecoma Juss. มีประมาณ 14 ชนิด พบในอเมริกาเขตร้อนและแอฟริกา ในไทยพบเป็นไม้ประดับ 2 ชนิด อีกชนิดคือ พวงแสดต้น T. capensis (Thunb.) Lindl. เกสรเพศผู้ยื่นพ้นหลอดกลีบดอก ปลายอับเรณูเชื่อมติดกัน โคนกางออก มีทั้งดอกสีส้มและสีเหลือง ชื่อสกุลมาจากภาษาเม็กซิโก “texomachit” ที่เรียกพืชที่มีดอกรูปแตร
|
ชื่อพ้อง Bignonia stans L.
|
|
ชื่อสามัญ Ginger-thomas, Yellow bells, Yellow elder, Yellow trumpet bush
|
ชื่ออื่น ดอกละคร (เชียงใหม่); ทองอุไร, พวงอุไร, สร้อยทอง (กรุงเทพฯ)
|
|
ทองอุไร: ใบประกอบเรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามปลายกิ่ง เกสรเพศผู้ไม่ยื่นพ้นปากหลอดกลีบดอก ผลแห้งแตกเป็น 2 ซีก มีช่องอากาศกระจาย (ภาพ: มานพ ผู้พัฒน์)
|
|