| ไม้ต้น สูงได้ถึง 20 ม. ลำต้นมีหนาม หูใบรูปใบหอก ยาวได้ถึง 1 ซม. ร่วงเร็ว ใบประกอบมี 3 ใบย่อย เรียงเวียน ก้านใบยาว 10–15 ซม. ใบย่อยรูปไข่กว้างหรือสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด ยาว 4–25 ซม. กว้างได้ถึง 30 ซม. โคนมีต่อม 1 คู่ เส้นโคนใบ 3 เส้น แผ่นใบมักมีลายด่างตามเส้นกลางใบและเส้นแขนงใบ ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกที่ปลายกิ่ง ยาว 10–15 ซม. ก้านยาว 7–10 ซม. ดอกหนาแน่น ใบประดับร่วงเร็ว ก้านดอกหนา ยาว 0.3–1 ซม. กลีบเลี้ยงแยกจรดโคนด้านเดียว ยาว 2–3 ซม. ดอกสีแดง กลีบกลางรูปขอบขนาน ยาว 5–6 ซม. มีก้านสั้น กลีบปีกและกลีบคู่ล่างยาวเท่า ๆ กัน สั้นกว่ากลีบกลาง กลีบคู่ล่างแยกกัน ก้านชูอับเรณูเชื่อมติดกัน 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งมี 9 อัน อีกกลุ่มหนึ่งมี 1 อัน ยาว 4–6 ซม. รังไข่มีขนละเอียด ฝักรูปทรงกระบอก ยาว 10–45 ซม. คอดตามเมล็ด เมล็ดสีแดงสด มี 2–10 เมล็ด
พบที่อินเดีย ศรีลังกา จีนตอนใต้ ญี่ปุ่น พม่า ภูมิภาคอินโดจีนและมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ออสเตรเลีย และหมู่เกาะแปซิฟิก ในไทยพบทุกภาค ความสูงถึงประมาณ 1200 เมตร ต้นใบด่างนิยมปลูกเป็นไม้ประดับ ส่วนต่าง ๆ มีพิษ แต่มีสรรพคุณด้านสมุนไพรหลายอย่าง
สกุล Erythrina L. มีประมาณ 100 ชนิด ในไทยมี 4 ชนิด และมีหลายชนิดที่นำเข้ามาปลูกเป็นไม้ประดับ เช่น มโนรมย์ E. corallodendron L. และสราญรมย์ E. crista-galli L. เป็นต้น ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก “erythros” สีแดง ตามสีของดอก
| | | ชื่อสามัญ Indian coral tree, Tiger’s claw, Variegated coral tree, Variegated tiger’s claw
| ชื่ออื่น ทองบ้าน, ทองเผือก (ภาคเหนือ); ทองหลางด่าง, ทองหลางลาย (กรุงเทพฯ)
| | ทองหลางลาย: ช่อดอกแบบช่อกระจะ ดอกเรียงหนาแน่น กลีบเลี้ยงแยกจรดโคนด้านเดียว กลีบปีกและกลีบคู่ล่างสั้น ฝักรูปทรงกระบอก คอดตามเมล็ด (ภาพ: ปรีชา การะเกตุ, ราชันย์ ภู่มา)
|
|
|