ไม้พุ่มขนาดเล็ก สูงได้ถึง 1 ม. มีขนรูปดาวตามริ้วประดับ กลีบเลี้ยงและกลีบดอกด้านนอก ใบเรียงเวียน รูปขอบขนานถึงรูปใบหอก ยาวได้ถึง 12 ซม. ขอบเรียบหรือจักฟันเลื่อย แผ่นใบด้านบนมีสะเก็ดรูปดาวกระจาย ด้านล่างมีขนหนาแน่น ก้านใบยาว 0.5–4 ซม. ดอกออกเดี่ยว ๆ ตามซอกใบหรือเป็นช่อกระจุกสั้น ๆ ตามปลายกิ่ง ริ้วประดับ 10 กลีบ รูปแถบ ยาว 3–5 มม. กลีบเลี้ยง 5 กลีบ รูปสามเหลี่ยม ยาวประมาณ 1 ซม. ดอกสีชมพูหรืออมแดง โคนสีขาว มี 5 กลีบ รูปไข่กลับ ยาว 2–3.5 ซม. เกสรเพศผู้เชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาว 5–8 มม. เกสรเพศผู้จำนวนมาก ติดเหนือกึ่งกลางเส้าเกสรจรดปลาย อับเรณูรูปตัวยู สีเหลือง ก้านเกสรเพศเมียแยก 8–10 แฉก ยาวประมาณ 1.5 ซม. ยอดเกสรรูปโล่ สีแดง ผลแห้งแตก กลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.5 ซม. มีขนหนาแน่น แต่ละช่องมีเมล็ดเดียว รูปไต มีขนหนาแน่น
พบที่ภูมิภาคอินโดจีน ในไทยพบแทบทุกภาค ยกเว้นภาคเหนือตอนบน และภาคใต้ ขึ้นตามชายป่า ที่โล่งในป่าโปร่ง ป่าเบญจพรรณ และป่าดิบแล้ง ความสูงถึงประมาณ 300 เมตร
สกุล Decaschistia Wight & Arn. มี 10–16 ชนิด พบในเอเชียและออสเตรเลีย ในไทยมี 3–4 ชนิด หัวอีอุ๊ก D. intermedia Craib ใบรูปแถบ ดอกสีแดง พบทางภาคตะวันออกของไทยและกัมพูชา ฝ้ายผี D. siamensis Craib ดอกสีเหลือง พบทางภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนืือ และอาจมี D. crotonifolia Wight & Arn. ที่มีดอกสีเหลือง ซึ่งบางข้อมูลระบุว่าเป็นชนิดเดียวกับฝ้ายผี ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก “deka” สิบ และ “schistos” แยก ตามลักษณะริ้วประดับแยกเป็น 10 กลีบ
|