สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

ทองบึ้ง

ทองบึ้ง
วันที่ 15 พฤศจิกายน 2559

Koompassia malaccensis Maingay ex Benth.

Fabaceae

ไม้ต้นผลัดใบ สูงได้ถึง 60 ม. โคนมีพูพอนขนาดใหญ่ หูใบขนาดเล็ก รูปรีกว้าง ใบประกอบ ส่วนมากมีใบย่อย 5–9 ใบ เรียงเกือบตรงข้าม รูปไข่หรือแกมรูปขอบขนาน ยาว 5–13 ซม. แผ่นใบด้านล่างมีขนสั้นนุ่ม ช่อดอกแบบช่อแยกแขนงหนาแน่น มีขนละเอียด ใบประดับและใบประดับย่อยขนาดเล็ก ร่วงเร็ว ก้านดอกยาว 1–2.5 มม. กลีบเลี้ยง 5 กลีบ ขนาดเล็ก ด้านนอกมีขน ดอกสีขาว มี 5 กลีบ รูปรี ยาวประมาณ 2.5 มม. เกสรเพศผู้ 5 อัน ยาวประมาณกึ่งหนึ่งของกลีบดอก อับเรณูรูปหัวใจ รังไข่มีขนสั้นนุ่ม ไร้ก้าน ก้านเกสรเพศเมียสั้น ยอดเกสรเป็นตุ่ม ฝักรูปใบหอก โคนบิด ยาว 12–13 ซม. ขอบมีปีกบาง ๆ มีเมล็ดเดียว รูปขอบขนาน เบี้ยว แบน ยาวประมาณ 3 ซม.

พบที่คาบสมุทรมลายู สุมาตรา และบอร์เนียว ในไทยพบทางภาคใต้ที่ตรัง ยะลา นราธิวาส ขึ้นตามป่าดิบชื้น และป่าพรุ ความสูงถึงประมาณ 700 เมตร

สกุล Koompassia Maingay ex Benth. อยู่ภายใต้วงศ์ย่อย Caesalpinioideae มีี 2 ชนิด พบในภูมิภาคมาเลเซีย และภาคใต้ตอนล่างของไทย อีกชนิดคือ ยวน K. excelsa (Becc.) Taub. ที่สูงได้ถึง 80 เมตร ใบและฝักขนาดเล็กกว่า รังไข่เกือบเกลี้ยง เปลือกเรียบกว่า ชื่อสกุลมาจากชื่อพื้นเมืองในภาษามาเลย์ “kempas

ชื่อสามัญ  Kempas

ชื่ออื่น   ทองบึ้ง (ภูเก็ต); มะกู๊ปะ (มาเลย์-นราธิวาส); สีไฟ, อีแปะ (พัทลุง)

ทองบึ้ง: ฝักรูปใบหอก โคนบิด ขอบมีปีกบาง ๆ มีเมล็ดเดียว (ภาพ: มานพ ผู้พัฒน์)



เอกสารอ้างอิง

Larsen, K., S.S. Larsen and J.E. Vidal. (1984). Leguminosae-Caesalpinioideae. In Flora of Thailand Vol. 4(1): 83–85.