| | Butea monosperma (Lam.) Taub. |
|
ไม้ต้น สูงได้ถึง 20 ม. แตกกิ่งต่ำ หูใบและหูใบย่อยขนาดเล็ก ร่วงเร็ว ใบประกอบมี 3 ใบย่อย ก้านใบยาวได้ถึง 10 ซม. ใบย่อยขนาดไม่เท่ากัน ยาว 14–17 ซม. ปลายกลมหรือเว้าตื้น ๆ โคนมักเบี้ยว ใบปลายรูปไข่กลับกว้างเกือบกลม ก้านยาวได้ถึง 5 ซม. ใบข้างรูปไข่ ก้านยาว 0.5–1 ซม. ช่อดอกแบบช่อแยกแขนงคล้ายช่อกระจุก ออกตามซอกใบหรือตามกิ่ง ยาวได้ถึง 50 ซม. มีขนละเอียด ใบประดับขนาดเล็ก ร่วงเร็ว กลีบเลี้ยงรูปถ้วย ยาว 1–1.2 ซม. มีขนทั้งสองด้าน ปลายจักตื้น ๆ กลีบบน 2 กลีบ กลีบล่าง 3 กลีบ ดอกโค้งงอ สีส้มหรือเหลือง ยาว 5–5.5 ซม. มีขนละเอียด กลีบกลางรูปไข่แกมรูปขอบขนาน กลีบปีกและกลีบคู่ล่างรูปเคียว เชื่อมติดกัน กลีบคู่ล่างกว้างและยาวกว่ากลีบปีกเล็กน้อย ก้านชูอับเรณูเชื่อมติดกัน 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งมี 9 อัน อีกกลุ่มหนึ่งมี 1 อัน รังไข่มีขนละเอียด ก้านเกสรเพศเมียโค้งเข้า ยอดเกสรเป็นตุ่ม ฝักรูปขอบขนาน แบน ยาว 12–15 ซม. ปลายกลม ก้านยาวประมาณ 1.5 ซม. มีเมล็ดเดียวอยู่ที่ปลายผล แบน ยาว 3–3.5 มม.
พบที่อินเดีย ภูฏาน เนปาล ศรีลังกา จีนตอนใต้ พม่า ภูมิภาคอินโดจีน และสุมาตรา ในไทยพบแทบทุกภาค พบน้อยทางภาคใต้ ความสูงถึงประมาณ 750 เมตร เป็นไม้ประดับ ยางสีแดงมีสรรพคุณเป็นยาสมาน
สกุล Butea Roxb. ex Willd. อยู่ภายใต้วงศ์ย่อย Faboideae เผ่า Phaseoleae มีประมาณ 4 ชนิด ในไทยมี 2 ชนิด อีกชนิดคือ ทองเครือ B. superba Roxb. เป็นไม้เถาเนื้อแข็ง มีหัวใต้ดิน ยางเป็นพิษ ส่วนมากพบทางภาคเหนือ ชื่อสกุลตั้งตามนักพฤกษศาสตร์ที่เป็นขุนนางชาวสกอตแลนด์ John Stuart, 3rd Earl of Bute (1713–1792)
| ชื่อพ้อง Erythrina monosperma Lam., Butea frondosa Willd.
| | ชื่อสามัญ Bastard teak, Bengal kino, Flame of the forest
| ชื่ออื่น กวาว, ก๋าว (ภาคเหนือ); จอมทอง (ภาคใต้); จ้า เขมร-สุรินทร์); จาน (อุบลราชธานี); ทองกวาว (ภาคกลาง); ทองต้น (ราชบุรี); ทองธรรมชาติ, ทองพรมชาติ (ภาคกลาง)
| | ทองกวาว: ช่อดอกแบบช่อแยกแขนงคล้ายช่อกระจุก ดอกสีส้มหรือเหลือง กลีบปีกและกลีบคู่ล่างรูปเคียว ฝักรูปขอบขนาน มีเมล็ดเดียวอยู่ที่ปลายผล (ภาพ: ปรีชา การะเกตุ, สุคนธ์ทิพย์ ศิริมงคล, ราชันย์ ภู่มา)
|
|
|