ไม้เถาหรือไม้ต้นรอเลื้อย มีขนสั้นนุ่มตามช่อดอก กลีบเลี้ยงและกลีบดอกด้านนอก ใบประกอบมี 5–7 ใบย่อย รูปรีหรือรูปไข่ ยาว 3–13 ซม. ปลายแหลมยาว โคนกลม เส้นแขนงใบข้างละ 5–7 เส้น ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกที่ปลายกิ่ง ยาวได้ถึง 10 ซม. ก้านดอกสั้น กลีบเลี้ยง 5 กลีบ รูปใบหอก ยาว 3–4 มม. ดอกสีครีม มี 5 กลีบ รูปใบหอกหรือรูปแถบ ยาว 6–8 มม. มีต่อมกระจาย กลีบด้านในมีขนประปราย เกสรเพศผู้เชื่อมติดกันที่โคน อันยาว 5 อัน ติดตรงข้ามกลีบเลี้ยง อันสั้น 5 อัน ติดตรงข้ามกลีบดอก เป็นหมัน ก้านชูอับเรณูมีขนและต่อมกระจาย มีคาร์เพลเดียว มีขนยาว ออวุลมี 2 เม็ด ก้านเกสรเพศเมียเรียวยาว ยอดเกสรเบี้ยว ผลแตกแนวเดียว รูปรี เบี้ยว ยาว 2–3 ซม. ผิวด้านนอกเกลี้ยง ด้านในมีขนสั้นนุ่ม ส่วนมากมีเมล็ดเดียว มีเยื่อหุ้มสีเหลืองอมส้ม จัก 2 พู ย่น
พบที่ภูมิภาคอินโดจีน และคาบสมุทรมลายู ในไทยพบแทบทุกภาค ยกเว้นภาคเหนือ ขึ้นตามชายป่า หรือชายทะเล ความสูงระดับต่ำ ๆ
สกุล Connarus L. มีประมาณ 80 ชนิด ส่วนใหญ่พบในอเมริกา แอฟริกา และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในไทยมีประมาณ 6 ชนิด ต่างจากสกุลอื่น ๆ ที่มีคาร์เพลเดียว กลีบเลี้ยงไม่ขยายในผล คล้ายกับสกุลคำรอก Ellipanthus ที่ช่อดอกออกตามซอกใบ ดอกไม่มีต่อม และใบประกอบมีใบเดียว ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก “konnaros” ต้นไม้ที่มีหนามชนิดหนึ่ง
|