สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

ต้อยติ่ง

ต้อยติ่ง
วันที่ 12 ตุลาคม 2559

Ruellia tuberosa L.

Acanthaceae

ไม้ล้มลุก สูงได้ถึง 50 ซม. มีรากสะสมอาหาร ตามข้อบวม ใบเรียงตรงข้าม รูปรี รูปไข่กลับ หรือแกมรูปขอบขนาน ยาว 4–8 ซม. แผ่นใบมักมีขนสั้นแข็งกระจายทั้ง 2 ด้าน ก้านใบยาวได้ถึง 8 มม. ช่อดอกแบบช่อกระจุกหรือออกเดี่ยว ๆ ตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ก้านช่อยาวได้ถึง 2.5 ซม. ใบประดับเรียงตรงข้าม รูปใบหอก ยาว 3–9 มม. ก้านดอกยาว 0.6–1 ซม. หลอดกลีบเลี้ยงยาวประมาณ 6 มม. ปลายแยกเป็น 5 แฉก รูปใบหอก ยาว 1–2 มม. ติดทน ด้านนอกมีขน ดอกรูปแตร สีม่วง ยาว 2.2–5.5 ซม. ด้านนอกมีขน มี 5 กลีบ รูปรี กว้างประมาณ 1.5 ซม. เกสรเพศผู้ 2 คู่ ยาวไม่เท่ากัน ยาวประมาณ 4 มม. และ 8 มม. บางครั้งมีเกสรเพศผู้ที่เป็นหมัน 1 อัน อับเรณูมีขน รังไข่มี 2 ช่อง ก้านเกสรเพศเมียยาวประมาณ 2 ซม. มีขนสาก ยอดเกสรจัก 2 พู เป็นแผ่นบาง ๆ ผลแห้งแตก รูปแถบ ยาว 1.8–2.5 ซม. ผนังกั้นมีต่อมเป็นตะขอ ก้านยาวได้ถึง 2 ซม. มีหลายเมล็ด ขนาดเล็ก มีขนไวต่อความชื้น

มีถิ่นกำเนิดในอเมริกากลาง ขึ้นเป็นวัชพืชทั่วไปในเขตร้อน ส่วนต่าง ๆ มีสรรพคุณลดกรดในกระเพาะอาหาร

สกุล Ruellia L. มีประมาณ 250 ชนิด พบในเขตร้อนและเขตอบอุ่น ในไทยมีพืชพื้นเมืองไม่กี่ชนิด แต่มีหลายชนิดที่นำเข้ามาปลูกเป็นไม้ประดับ เช่น ต้อยติ่งเทศ R. simplex C. Wright แดงซีลอน R. brevifolia (Pohl) C. Ezcurra และแดงอเมซอน R. chartacea (T.Anderson) Wassh. เป็นต้น ชื่อสกุลตั้งตามนักพฤกษศาสตร์ชาวฝรั่งเศส Jean Ruel (1474–1537)

ชื่อสามัญ  Fever root, Minnie root, Sheep potato, Snapdragon root

ต้อยติ่ง: ลำต้นและใบมีขน ใบเรียงตรงข้าม ช่อดอกบางครั้งมีดอกเดียว เกสรเพศผู้และเพศเมียไม่ยื่นพ้นหลอดกลีบดอก กลีบเลี้ยงติดทน ผลรูปแถบ (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)

ต้อยติ่งเทศ
วันที่ 12 ตุลาคม 2559

Ruellia implex C.Wright

Acanthaceae

ดูที่ ต้อยติ่ง



เอกสารอ้างอิง

Staples, G.W. and D.R. Herbst. (2005). A tropical garden flora. Bishop Museum Press, Honolulu, Hawai`i.