สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

ต้นใบหูด

ต้นใบหูด
วันที่ 12 ตุลาคม 2559

Helwingia himalaica Hook.f. & Thomson ex C.B.Clarke

Helwingiaceae

ไม้พุ่ม แตกกอ สูง 2–3 ม. แยกเพศต่างต้น ลำต้นกลวงเป็นฟองน้ำสีขาว หูใบรูปเส้นด้าย ยาว 1–2 มม. ร่วงเร็ว บางครั้งแยก 2–3 แฉก ใบเรียงเวียน รูปขอบขนานหรือรูปใบหอก ยาว 5–11 ซม. ขอบจักฟันเลื่อยคล้ายหนาม ก้านใบยาว 1–5 ซม. ช่อดอกแบบช่อซี่ร่ม ติดบนเส้นกลางใบใต้จุดกึ่งกลาง ช่อดอกเพศผู้มี 7–10 ดอก ใบประดับคล้ายหูใบ ก้านดอกยาว 1–2 มม. ดอกเส้นผ่านศูนย์กลาง 3–5 มม. กลีบเลี้ยงและกลีบดอกจำนวนอย่างละ 3–5 กลีบ สีม่วงอมเขียว เกสรเพศผู้ติดระหว่างกลีบดอก ยาวประมาณ 1 มม. จานฐานดอกรูปเบาะ ช่อดอกเพศเมียมี 1–5 ดอก ก้านดอกสั้น ดอกเส้นผ่านศูนย์กลาง 5–8 มม. กลีบเลี้ยงและกลีบดอกจำนวนอย่างละ 4 กลีบ รังไข่ใต้วงกลีบ เกสรเพศเมียแยก 3–5 แฉก ติดทน ผลผนังชั้นในแข็ง รูปรี ยาว 7–8 มม. จักเป็นพู ก้านผลยาว 1–6 มม. มี 2–4 เมล็ด

พบที่ อินเดีย ภูฏาน เนปาล จีนตอนใต้ พม่า และเวียดนามตอนบน ในไทยพบทางภาคเหนือที่ดอยภูคา จังหวัดน่าน ขึ้นตามที่ลาดชันใต้ร่มเงาในป่าดิบเขา ความสูงประมาณ 1100 เมตร

สกุล Helwingia Willd. เคยอยู่ภายใต้วงศ์ Apiaceae, Araliaceae หรือ Cornaceae เป็นสกุลเดียวของวงศ์ พบเฉพาะประเทศในแถบเทือกเขาหิมาลัย และเอเชียตะวันออกที่จีน ญี่ปุ่น และเกาหลี มี 4 ชนิด ในไทยมีชนิดเดียว ใน Flora of China ระบุว่าพบ H. chinensis Batalin ซึ่งอาจวิเคราะห์ชื่อผิด ช่อดอกที่ออกกลางเส้นใบ (epiphyllous flowers) เกิดจากก้านช่อดอกแนบติดกับก้านใบและเส้นกลางใบเป็นเนื้อเดียวกัน จนไม่สามารถแยกได้ ชื่อสกุลตั้งตามนักพฤกษศาสตร์ชาวเยอรมัน Georg Andreas Helwing (1668–1748)

ต้นใบหูด: ช่อดอกแบบช่อซี่ร่ม ออกจากเส้นกลางใบ ดอกเพศผู้ก้านดอกยาว ขอบใบจักฟันเลื่อยคล้ายหนาม ผลรูปรี จักเป็นพูจำนวนตามเมล็ด (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)



เอกสารอ้างอิง

Pooma, R. (2011). Helwingiaceae. In Flora of Thailand Vol. 11(1): 14–15.

Xiang, J.Q. and E. Boufford. (2005). Helwingiaceae. In Flora of China Vol. 14: 227–228.