ไม้พุ่ม สูงกว่า 1 ม. กิ่งอ่อนเป็นเหลี่ยม มีขนสีน้ำตาลตามข้อ หูใบ 2 อัน รูปเข็มยาวประมาณ 3 มม. ใบเรียงตรงข้าม แผ่นใบบาง รูปรีถึงรูปแถบ ยาว 10–15 ซม. ปลายแหลมยาว โคนรูปลิ่ม เส้นแขนงใบเรียงจรดกันห่างจากขอบใบ 0.5–1.2 ซม. ก้านใบยาว 2–7 มม. เป็นร่องชัดเจน ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามซอกใบหรือปลายกิ่ง ยาวได้ถึง 12 ซม. ก้านดอกยาว 3–7 มม. มีติ่งใกล้โคน ใบประดับ 1 อัน ใบประดับย่อย 2 อัน ขนาดเล็ก ติดทน ขอบมีขนครุย กลีบเลี้ยง 5 กลีบ รูปรี ปลายมน ยาว 2–3 มม. ดอกสีเหลือง มี 5 กลีบ รูปรี ยาว 0.8–1.2 ซม. เกสรเพศผู้ 10 อัน เรียง 2 วง วงนอกโค้งเข้าหากัน ยาวกว่าวงใน ก้านชูอับเรณูยาว 5–7 มม. อับเรณูยาว 3–5 มม. มีรูเปิดที่ปลาย รังไข่มี 3 ช่อง แต่ละช่องมีออวุลเม็ดเดียว ก้านเกสรเพศเมีย 3 อัน ยาวประมาณ 1 ซม. ติดทน ผลแยกแล้วแตก 3 ซีก พัฒนาเพียง 1–2 ซีก ยาว 1–1.5 ซม. ปลายมีสันคล้ายปีก ผิวเป็นร่างแห เกลี้ยง
พืชถิ่นเดียวของไทย พบทางภาคใต้ตอนล่างที่บันนังสตา จังหวัดยะลา ขึ้นตามป่าดิบชื้น ความสูงประมาณ 50 เมตร รูปร่างใบมีความผันแปรสูง
สกุล Brachylophon Oliv. มี 2–3 ชนิด พบในภูมิภาคมาเลเซีย และภาคใต้ของไทย ส่วนโนราต้น B. curtisii Oliv. ดอกสีเหลือง ใบขนาดใหญ่กว่า ก้านดอกยาว 2–3 ซม. พบที่คาบสมุทรมลายู บอร์เนียว สุมาตรา และภาคใต้ของไทย นอกจากนี้ ในไทยยังมีชนิดที่ดอกสีขาว (Brachylophon sp.) ช่อดอกและก้านดอกหนา สั้น ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก “brachys” สั้น และ “lophon” สัน ตามลักษณะปลายผล
|