ไม้ต้น สูงได้ถึง 60 ม. กิ่งเป็นเหลี่ยม ใบเรียงเป็นวงรอบ รูปรีหรือรูปไข่กลับ ยาว 8–20 ซม. ปลายแหลมสั้น ๆ หรือกลม เส้นแขนงใบตรง จำนวนมาก ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนง ช่อย่อยแบบช่อซี่ร่ม ออกตามปลายกิ่ง ยาว 8.5–10.5 ซม. ก้านดอกยาว 2–3 มม. กลีบเลี้ยง 5 กลีบ รูปไข่ ยาวประมาณ 1 มม. โคนไม่มีต่อม ดอกรูปกงล้อ สีขาว มี 5 กลีบ เรียงซ้อนทับด้านซ้ายในตาดอก หลอดกลีบดอกยาวประมาณ 2 มม. กลีบรูปขอบขนาน ยาวประมาณ 4 มม. มีขนด้านในและรอบเกสรเพศผู้ เกสรเพศผู้ 5 อัน ติดประมาณกึ่งกลางหลอดกลีบ ไม่ยื่นพ้นปากหลอด จานฐานดอกรูปวงแหวน มี 2 คาร์เพล เชื่อมติดกัน มีขน ก้านเกสรเพศเมียยาวประมาณ 0.5 มม. ผลออกเป็นฝักคู่ โค้งกางออก ยาว 14–35 ซม. กว้าง 2–3 ซม. เมล็ดรูปรี ยาวประมาณ 5 ซม. รวมปีกบาง ๆ
พบที่คาบสมุทรมลายู ชวา สุมาตรา และภาคใต้ตอนล่างของไทยที่สตูล ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ขึ้นตามป่าดิบชื้นความสูงระดับต่ำ ๆ น้ำยางทำให้ระคายเคือง เรียกว่า ยางเยลูตง เคยเป็นวัตถุดิบที่สำคัญในการผลิตหมากฝรั่ง
สกุล Dyera Hook.f. มี 2 ชนิด พบในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อีกชนิดคือ D. polyphylla (Miq.) Steenis พบที่สุมาตราและบอร์เนียว ชื่อสกุลตั้งตามนักพฤกษศาสตร์ชาวบริติช William Turner Triselton-Dyer (1843–1928)
|
ชื่อพ้อง Alstonia costulata Miq.
|
|
ชื่อสามัญ Gutta percha tree
|
ชื่ออื่น ตีนเป็ดแดง (ภาคใต้); เยลูตง (ปัตตานี, มาเลย์-ยะลา); ลูตง (มาเลย์-นราธิวาส)
|
|
ตีนเป็ดแดง: ไม้ต้นขนาดใหญ่ ดอกออกเป็นช่อกระจุก ช่อย่อยแบบช่อซี่ร่ม ออกตามปลายกิ่ง ดอกรูปกงล้อ ผลเป็นฝักคู่ กางออก (ภาพ: มานพ ผู้พัฒน์)
|
|