Index to botanical names
ตีนเป็ดฝรั่ง
Bignoniaceae
ไม้ต้น แตกกิ่งต่ำ สูงได้ถึง 10 ม. ใบประกอบมี 3 ใบย่อย มักออกตามกิ่งหรือลำต้น ก้านเป็นปีก ยาว 2.5–5 ซม. ใบย่อยรูปใบพาย ใบปลายยาวได้ถึง 10 ซม. ใบข้างสั้นกว่าเล็กน้อย ปลายเว้าตื้น ดอกออกเดี่ยว ๆ หรือเป็นคู่ ตามลำต้นและกิ่ง ก้านดอกยาว 5–8 มม. กลีบเลี้ยงแยก 2 แฉกเกือบจรดโคน ยาวประมาณ 1.5 ซม. ดอกรูปแตรป่องกลาง สีเขียวอมม่วงและน้ำตาลแดง หลอดกลีบยาว 4–6 ซม. ด้านนอกมีต่อมกระจาย กลีบบน 2 กลีบ กลีบล่าง 3 กลีบ รูปสามเหลี่ยมกว้าง แฉกลึกประมาณ 1.5 ซม. ขอบจักชายครุย เกสรเพศผู้ 2 คู่ ยาวไม่เท่ากัน ติดเหนือโคนหลอดกลีบดอก ยาว 3–4 ซม. เกสรเพศผู้ที่เป็นหมันติดระหว่างเกสรเพศผู้อันยาว ยาว 5–7 มม. อับเรณูกางออก จานฐานดอกเป็นวง รังไข่มี 2 ช่อง เกลี้ยง ก้านเกสรเพศเมียยาวประมาณ 6.5 ซม. ยอดเกสรจัก 2 พู ยาวประมาณ 4 มม. ผลรูปรี เส้นผ่านศูนย์กลาง 7–10 ซม. เปลือกแข็ง เนื้อเป็นปุยสีขาว เมล็ดขนาดเล็ก แบน คล้ายรูปหัวใจมีถิ่นกำเนิดในอเมริกากลางแถบประเทศเม็กซิโกจนถึงคอสตาริกา เป็นไม้ประดับทั่วไปในเขตร้อน ดอกบานเต็มที่ตอนกลางคืน มีกลิ่นแรงสกุล Crescentia L. มีประมาณ 6 ชนิด พบในอเมริกาเขตร้อน และแถบทะเลแคริบเบียน ในไทยเป็นไม้ประดับ 2 ชนิด อีกชนิดคือ น้ำเต้าต้น C. cujete L.ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเป็นกระจุก ทั้ง 2 ชนิด เปลือก ใบ และผล แก้ท้องเสีย แก้ไข้ เปลือกผลแข็งสามารถใช้ทำภาชนะ เนื้อปุยและเมล็ดกินได้ แต่ของน้ำเต้าต้นมีพิษ ชื่อสกุลตั้งตามพระชาวอิตาลี Pietro Crescenti (1230–1321)
ชื่อสามัญ Jicaro, Mexican calabash, Morrito, Winged calabash
ตีนเป็ดฝรั่ง: ใบประกอบมี 3 ใบย่อย ใบและดอกออกตามลำต้นและกิ่ง ดอกบานตอนกลางคืน ปลายกลีบจักชายครุย เกสรเพศผู้ 2 คู่ ยาวไม่เท่ากัน ยอดเกสรเพศเมียจัก 2 พู ผลรูปรี (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)
Santisuk, T. (1987). Bignoniaceae. In Flora of Thailand Vol. 5(1): 62.