Index to botanical names
ตีนเป็ด
Apocynaceae
ไม้พุ่มหรือไม้ต้น น้ำยางขาว ใบเรียงรอบข้อหรือเรียงตรงข้าม ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนงเรียงเป็นวง หรือคล้ายช่อซี่ร่ม กลีบเลี้ยง 5 กลีบ ไม่มีต่อมที่โคน ดอกรูปดอกเข็ม สีขาว มี 5 กลีบ เรียงซ้อนทับด้านซ้ายหรือด้านขวาในตาดอก ปากหลอดกลีบมีขนสั้นนุ่ม เกสรเพศผู้ 5 อัน ติดบนหลอดกลีบดอก ไม่ยื่นพ้นปากหลอดกลีบ จานฐานดอกเป็นต่อมแยกกัน ติดระหว่างคาร์เพลหรือเป็นวง คาร์เพลเชื่อมติดกันหรือเชื่อมติดกันตอนปลายจรดก้านเกสรเพศเมีย ออวุลจำนวนมาก ผลเป็นฝักคู่หรือฝักเดี่ยว เมล็ดรูปขอบขนาน แบน ขอบมีขนครุยสกุล Alstonia มีประมาณ 40 ชนิด พบในอเมริกาเขตร้อน แอฟริกา เอเชีย และออสเตรเลีย ในไทยมี 7 ชนิด ชื่อสกุลตั้งตามนักพฤกษศาสตร์ชาวสกอตแลนด์ Charles Alston (1685–1760)
ไม้ต้น สูงได้ถึง 40 ม. กิ่งมีช่องอากาศ หูใบคล้ายเป็นติ่งที่ซอกก้านใบ ใบเรียงเป็นวง 4–10 ใบ รูปรี รูปไข่กลับ หรือรูปใบพาย ยาว 4–32 ซม. ปลายแหลมหรือกลม โคนรูปลิ่มหรือเป็นครีบ เส้นใบตรงจำนวนมาก ก้านใบยาว 0.7–1.5 ซม. ช่อดอกแน่นเป็นกระจุก ยาว 3–8.5 ซม. ก้านดอกสั้น กลีบเลี้ยงรูปไข่ ยาว 1–2 มม. มีขนสั้นนุ่มและขนครุย กลีบดอกเรียงซ้อนทับด้านซ้ายในตาดอก หลอดกลีบยาว 0.5–1 ซม. กลีบรูปรี ยาว 2–5 มม. เกสรเพศผู้ติดเหนือกึ่งกลางหลอดกลีบ จานฐานดอกเป็นต่อมแยกกัน คาร์เพลมีขน เกสรเพศเมียยาว 3–5 มม. ผลออกเป็นฝักคู่ รูปแถบ ยาว 20–55 ซม. เมล็ดรูปขอบขนาน ยาว 4–8 มม. ขนครุยยาว 1–2 มม.พบที่อินเดีย ศรีลังกา จีนตอนใต้ พม่า ภูมิภาคอินโดจีนและภูมิภาคมาเลเซีย ออสเตรเลีย และหมู่เกาะแปซิฟิก ในไทยพบทุกภาค ขึ้นตามป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง และป่าดิบชื้น ความสูง 100–1200 เมตร เปลือกและใบแก้ปวดหัว แก้ไข้ หลอดลมและปอดอักเสบ
ชื่อพ้อง Echites scholaris L.
ชื่อสามัญ Blackboard tree, Devil tree, Indian devil tree, Milkwood pine, White cheesewood
ชื่ออื่น กะโน้ะ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน); จะบัน (เขมร-ปราจีนบุรี); ชบา, ตีนเป็ด (ภาคกลาง); ตีนเป็ดดำ (นราธิวาส); บะซา, ปูลา, ปูแล (ปัตตานี, มาเลย์-ยะลา); พญาสัตบรรณ (ภาคกลาง); ยางขาว (ลำปาง); สัตบรรณ (ภาคกลาง, เขมร-จันทบุรี); หัสบรรณ (กาญจนบุรี)
ตีนเป็ด: หูใบคล้ายเป็นติ่งที่ซอกก้านใบ ใบเรียงเป็นวง โคนรูปลิ่มหรือเป็นครีบ ช่อดอกแน่นเป็นกระจุก ปากหลอดกลีบดอกมีขนสั้นนุ่ม (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)
ไม้พุ่ม สูง 1–2 ม. ใบเรียงเป็นวงรอบ 3–4 ใบ ชิดกัน รูปรีถึงรูปใบหอกกลับ ยาว 5–12 ซม. ปลายแหลม โคนรูปลิ่ม เส้นใบจำนวนมาก มีต่อมตามซอกเส้นใบ ก้านใบยาว 0.5–2 ซม. ช่อดอกเรียงเป็นวง ยาว 4.5–6 ซม. กลีบเลี้ยงรูปไข่ ยาวประมาณ 2 มม. กลีบดอกเรียงซ้อนทับด้านซ้ายในตาดอก หลอดกลีบยาวประมาณ 2.5 ซม. มีขนด้านในและรอบเกสรเพศผู้ กลีบรูปรี ยาว 1–1.5 ซม. เกสรเพศผู้ติดประมาณกึ่งกลางหลอดกลีบ จานฐานดอกเป็นต่อมแยกกัน คาร์เพลเกลี้ยง เกสรเพศเมียยาวประมาณ 1 ซม. ผลออกเป็นฝักคู่ รูปแถบ ยาวได้ถึง 9 ซม. เมล็ดรูปขอบขนาน ยาวประมาณ 1 ซม. รอยบุ๋มทั่วไป ขนครุยยาวประมาณ 2.5 มม.พืชถิ่นเดียวของไทย พบทางภาคใต้ที่สุราษฎร์ธานี พังงา ภูเก็ต กระบี่ ขึ้นตามเกาะหรือเขาหินปูนเตี้ย ๆ ความสูงไม่เกิน 100 เมตร
ตีนเป็ดแคระ: ใบเดี่ยวเรียงเป็นวงรอบ แต่ละวงมี 3–4 ใบ ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนงเรียงเป็นวง ดอกรูปดอกเข็ม กลีบเรียงซ้อนทับด้านซ้ายในตาดอก (ภาพ: ปรีชา การะเกตุ, ราชันย์ ภู่มา)
ไม้พุ่ม สูงได้ถึง 4 ม. กิ่งมีช่องอากาศหนาแน่น เกลี้ยง ใบเรียงเป็นวงรอบ 3–5 ใบ รูปขอบขนานหรือรูปใบหอก ยาว 2.5–13 ซม. ปลายแหลมยาว โคนสอบเรียวจรดก้านใบ ไร้ก้าน เส้นแขนงใบจำนวนมาก มีต่อมตามซอกเส้นใบ ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนง ออกตามปลายกิ่ง ยาว 2–5 ซม. ก้านดอกยาว 3–4 มม. กลีบเลี้ยงรูปไข่ ยาวประมาณ 2 มม. มีขนครุย กลีบดอกเรียงซ้อนทับด้านซ้ายในตาดอก หลอดกลีบยาว 7–8 มม. กลีบรูปขอบขนาน ปลายกลม ยาว 2.5–3 มม. ด้านในมีขน เกสรเพศผู้ติดใกล้ปากหลอดกลีบดอก จานฐานดอกจัก 2 พู คาร์เพลเกลี้ยง เกสรเพศเมียยาวประมาณ 4 มม. ผลออกเป็นฝักคู่ รูปแถบ ยาว 6–10 ซม. เมล็ดรูปขอบขนาน ยาวประมาณ 8.5 มม. ปลายมนกลม ขนครุยยาวประมาณ 5 มม.พบที่จีนตอนใต้ และภาคเหนือของไทยที่ดอยเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ขึ้นตามเขาหินปูนที่เปิดโล่ง ความสูง 1700–1800 เมตร
ตีนเป็ดดอย: ใบเรียงเป็นวง ไร้ก้าน ดอกออกเป็นช่อกระจุกแยกแขนง ออกตามปลายกิ่ง (ภาพ: สุคนธ์ทิพย์ ศิริมงคล, ณรงค์ คูณขุนทด)
ไม้ต้น สูง 5–10 ม. โคนมักเป็นร่องหรือมีพูพอน ใบเรียงเป็นวงรอบ 3–5 ใบ รูปช้อน ยาว 2.5–11 ซม. ปลายมนหรือกลม โคนเรียวเป็นครีบ เส้นใบจำนวนมาก มีต่อมตามซอกเส้นใบ ก้านใบยาวประมาณ 5 มม. ช่อดอกแบบช่อกระจุกเรียงเป็นวงแยกแขนง ออกตามปลายกิ่ง ยาว 6–9 ซม. ก้านดอกยาว 0.3–1 ซม. กลีบเลี้ยงรูปไข่ ยาวประมาณ 2 มม. มีขนครุย กลีบดอกเรียงซ้อนทับด้านซ้ายในตาดอก หลอดกลีบดอกยาว 6–9 มม. ด้านในมีขนหนาแน่น กลีบรูปขอบขนาน ยาวได้ถึง 9 มม. เกสรเพศผู้ติดเหนือกึ่งกลางหลอดกลีบดอก จานฐานดอกขนาดเล็ก คาร์เพลเกลี้ยง เกสรเพศเมียยาว 5–6 มม. ผลออกเป็นฝักคู่ ยาว 10–24 ซม. เมล็ดยาวประมาณ 5 มม. ขนครุยยาวประมาณ 1 ซม.พบที่ภูมิภาคมาเลเซีย เวียดนามตอนใต้ และภาคใต้ของไทย ขึ้นตามขอบป่าพรุ ความสูงระดับต่ำ ๆ น้ำยางขาวใช้ทาแก้โรคผิวหนัง แก้ปวดฟัน น้ำสกัดจากเปลือกมีสรรพคุณลดน้ำตาลในเลือด
ชื่อสามัญ Siamese balsa
ชื่ออื่น กระบุย, เซียะ, ตีนเป็ดพรุ, เทียะ (ภาคใต้); ปูแลปาซา (มาเลย์-นราธิวาส); ยวน (นราธิวาส)
ตีนเป็ดพรุ: ใบเรียงเป็นวงรอบ รูปช้อน ช่อดอกแบบช่อกระจุกเรียงเป็นวงแยกแขนง ผลเป็นฝักคู่ เมล็ดมีขนครุย (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา, นันท์นภัส ภัทรหิรัญไตรสิน)
Li, B., A.J.M. Leeuwenberg and D.J. Middleton. (1995). Apocynaceae. In Flora of China Vol. 16: 154–156.
Middleton, D.J. (1999). Apocynaceae. In Flora of Thailand Vol. 7(1): 41–48.