สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

ตีนตุ๊กแก

ตีนตุ๊กแก
วันที่ 31 ตุลาคม 2559

Ficus pumila L.

Moraceae

ไม้เลื้อย มีรากตามข้อ ลำต้นมีขนสีน้ำตาลหนาแน่น ใบเรียงสลับระนาบเดียว มีสองขนาด รูปไข่ถึงรูปรี หรือรูปกลมถึงรูปหัวใจ ยาว 1–6 ซม. โคนกลมหรือเว้าตื้น แผ่นใบค่อนข้างหนา ด้านบนมีขนตามเส้นแขนงใบ ด้านล่างมีขนสั้นนุ่ม เส้นแขนงใบข้างละ 4–6 เส้น มีต่อมไขตามซอกเส้นแขนงใบด้านล่าง ใบขนาดใหญ่ก้านใบยาวได้ถึง 2.5 ซม. ใบอ่อนสีน้ำตาลแดง ใบประดับที่โคนยาว 4–7 มม. ดอกอยู่ภายในฐานดอกที่ขยายออกเดี่ยว ๆ ตามซอกใบหรือใต้ใบ อันที่เป็นหมันเป็นปมรูปกลม ๆ อันที่สมบูรณ์รูปลูกแพร์ถึงรูปไข่กลับ ยาว 3–7 ซม. มีขนสั้นนุ่มกระจาย สุกสีดำ รูเปิดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3 มม. มีขนหนาแน่น ก้านผลยาว 0.4–2 ซม. (ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ ไทร, สกุล)

มีถิ่นกำเนิดในจีน เกาหลี ญี่ปุ่น ไต้หวัน และเวียดนาม เป็นไม้ประดับเกาะเลื้อย หรือแพร่กระจายในธรรมชาติ ความสูงถึงประมาณ 1400 เมตร มีสรรพคุณด้านสมุนไพรหลายอย่าง เนื้อผลคั้นทำเจลลี่ปรุงอาหารได้

ชื่อสามัญ  Creeping fig

ชื่ออื่น   ตีนตุ๊กแก, มะเดื่อเถา (กรุงเทพฯ); ลิ้นเสือ (ภาคกลาง)

ตีนตุ๊กแก: ไม้เลื้อยเกาะตามกำแพง ใบมีสองขนาด ดอกจำนวนมากอยู่ภายในฐานดอกที่ขยาย (fig) รูปลูกแพร์ มีใบประดับที่โคน รูเปิดมีขนหนาแน่น (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)



เอกสารอ้างอิง

Berg, C.C., N. Pattharahirantricin and B. Chantarasuwan. (2011). Moraceae in Flora of Thailand Vol. 10(4): 587–588.

Wee, Y.C. and H. Keng. (1990). An illustrated dictionary of Chinese medicinal herbs. Times Edition Pte Ltd., Time Centre, Singapore.