สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

ติ่งตั่ง

ติ่งตั่ง
วันที่ 31 ตุลาคม 2559

Getonia floribunda Roxb.

Combretaceae

ไม้เถาเนื้อแข็ง ยาวได้กว่า 10 ม. มีขนยาวหนาแน่นตามกิ่ง แผ่นใบด้านล่าง ช่อดอก ใบประดับ และกลีบเลี้ยงด้านนอก ใบเรียงตรงข้าม รูปรี รูปขอบขนาน หรือแกมรูปไข่ ยาว 5–15 ซม. ก้านใบยาว 0.8–1.2 ซม. ช่อดอกแบบช่อเชิงลดมักแยกแขนงหนาแน่น ออกตามซอกใบหรือปลายกิ่ง ช่อปลายกิ่งยาวได้ถึง 30 ซม. ใบประดับยาว 2–3 มม. หลอดกลีบเลี้ยงยาว 0.7–1 ซม. โคนมี 5 สันตื้น ๆ ปลายแยกเป็น 5 กลีบ รูปสามเหลี่ยมแคบ ยาว 2–4 มม. ขยายเป็นปีกในผล มีเส้นกลีบ 3 เส้น ไม่มีกลีบดอก เกสรเพศผู้ 10 อัน ก้านชูอับเรณูยาว 2–3 มม. รังไข่ใต้วงกลีบ ผลคล้ายผลเทียม แห้ง มี 5 สัน รูปไข่ ยาว 1.8–2.3 ซม. รวมกลีบเลี้ยงคล้ายปีกที่ ยาว 1–1.4 ซม. ผิวเป็นร่างแห มีเกล็ดและขนยาว

พบที่อินเดีย บังกลาเทศ จีนตอนใต้ พม่า ภูมิภาคอินโดจีน และคาบสมุทรมลายู ในไทยพบทุกภาค กระจายห่าง ๆ ตามที่โล่ง และชายป่า ความสูงถึงประมาณ 600 เมตร มีสรรพคุณด้านสมุนไพรหลายอย่าง

สกุล Getonia Roxb. มีเพียงชนิดเดียว ชื่อสกุลไม่พบอ้างอิงที่มาของชื่อ

ชื่อพ้อง  Calycopteris floribunda (Roxb.) Lam. ex Poir.

ชื่ออื่น   กรูด (สุราษฎร์ธานี); ข้าวตอกแตก (ภาคกลาง); งวงชุม (ขอนแก่น); งวงสุ่ม (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ); งวงสุ่มขาว (พิษณุโลก, สุโขทัย); ดวงสุ่ม (อุบลราชธานี); ดอกโรค (เลย); ตะกรุด (นครศรีธรรมราช); ตาโน้ะ (มาเลย์-ยะลา); ติ่งตั่ง, ติ่งตั่งตัวผู้ (ภาคเหนือ); เถาวัลย์นวล (ราชบุรี); ประโยด (ตราด); มันเครือ (นครราชสีมา); มันแดง (กระบี่); เมี่ยงชะนวนไฟ, สังขยาขาว (พิษณุโลก, สุโขทัย); หน่วยสุด (ภาคใต้)

ติ่งตั่ง: ช่อดอกแบบช่อเชิงลดแยกแขนง ไม่มีกลีบดอก เกสรเพศผู้ 10 อัน (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)

ติ่งตั่งตัวผู้
วันที่ 31 ตุลาคม 2559

Getonia floribunda Roxb.

Combretaceae

ดูที่ ติ่งตั่ง



เอกสารอ้างอิง

Cheng, J. and N.J. Turland. (2007). Combretaceae. In Flora of China Vol. 13: 315.