สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

ตำแยแมว

ตำแยแมว
วันที่ 31 ตุลาคม 2559

Acalypha indica L.

Euphorbiaceae

ไม้ล้มลุก สูงได้ถึง 1 ม. แยกเพศร่วมต้น มีขนสั้นนุ่มตามแผ่นใบด้านล่าง ใบประดับ กลีบเลี้ยงด้านนอก และรังไข่ หูใบรูปสามเหลี่ยมแคบ ยาว 1–2 มม. ขอบมีขนต่อม ใบเรียงเวียน รูปคล้ายสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด ยาว 3–7 ซม. แผ่นใบบาง ขอบจักฟันเลื่อย เส้นโคนใบข้างละ 1–2 เส้น ก้านใบยาว 2–6 ซม. ช่อดอกคล้ายช่อเชิงลด แยกแขนงเป็นช่อกระจุกสั้น ๆ ออกตามซอกใบ 1–2 ช่อ ยาวได้ถึง 10 ซม. ไม่มีกลีบดอก ดอกเพศผู้อยู่ช่วงบน ออกเป็นกระจุก 6–10 ดอก ใบประดับขนาดเล็ก ก้านดอกสั้น กลีบเลี้ยงขนาดเล็ก 4 กลีบ เกสรเพศผู้ 7–9 อัน ดอกเพศเมียออกเป็นกระจุก 1–4 ดอก ใบประดับรูปถ้วย ขยายในผล กว้างได้ถึง 1 ซม. ขอบจัก 8–12 ซี่ กลีบเลี้ยง 3 กลีบ เรียงซ้อนเหลื่อม รูปไข่ ยาวประมาณ 1 มม. รังไข่มี 3 ช่อง เกสรเพศเมีย 3 อัน ยอดเกสรแฉกลึกรูปเส้นด้าย ผลแห้งแตก จัก 3 พู รูปกลม ๆ เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3 มม. มีขนสั้นนุ่มและขนต่อม แต่ละซีกมีเมล็ดเดียว

พบในแอฟริกาและเอเชียเขตร้อน ขึ้นเป็นวัชพืชทั่วไป ทั้งต้นมีสาร cyanogenic glycosides อาจมีพิษร้ายแรง มีสรรพคุณด้านสมุนไพรหลายอย่าง

สกุล Acalypha L. อยู่ภายใต้วงศ์ย่อย Acalyphoideae เผ่า Acalypeae มีประมาณ 450 ชนิด พบในเขตร้อนและกึ่งเขตร้อน ในไทยมีพืชพื้นเมือง 8 ชนิด และเป็นไม้ประดับ 3 ชนิด ได้แก่ หางกระรอกแดง A. hispida Burm.f. หางกระรอกเลื้อย A. chamaedrifolia (Lam.) Müll.Arg. และโพเงิน A. wilkesiana Müll.Arg. นอกจากนี้ไม้พื้นเมืองของไทยยังพบปลูกเป็นไม้ประดับด้วย คือ ชาข่อย A. siamensis Oliv. ex Gage ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก “akalephe” หมายถึงใบมีขนสาก

ชื่อสามัญ  Indian nettle

ชื่ออื่น   ตำแยตัวผู้, ตำแยแมว (ภาคกลาง); หานแมว (ภาคเหนือ)

ตำแยแมว: ก้านใบยาว แผ่นใบบาง ช่อดอกคล้ายช่อเชิงลดดอกเพศเมียอยู่ช่วงล่าง ใบประดับรูปถ้วย (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)



เอกสารอ้างอิง

Ngernsaengsaruay, C. and K. Chayamarit. (2005). Euphorbiaceae (Acalypha). In Flora of Thailand Vol. 8(1): 26.