ไม้เถา แยกเพศต่างต้น มีหัวใต้ดิน มือจับไม่แยกแขนง ใบเรียงเวียน รูปไข่ถึงรูปหัวลูกศร หรือมี 3–5 แฉก ยาว 4–10 ซม. ก้านใบยาว 0.5–1 ซม. ช่อดอกเพศผู้คล้ายช่อซี่ร่ม ใบประดับที่โคนช่อดอก (probract) รูปแถบ ยาว 1–5 มม. มี 10–20 ดอก ก้านดอกยาว 2–8 มม. หลอดกลีบเลี้ยงยาวประมาณ 5 มม. ปลายแยก 5 แฉก รูปสามเหลี่ยมขนาดเล็ก ดอกสีขาว หลอดกลีบดอกยาวเท่า ๆ หลอดกลีบเลี้ยง มี 5 กลีบ รูปสามเหลี่ยม ยาว 1–2 มม. มีขนสั้น เกสรเพศผู้ 3 อัน ก้านชูอับเรณูยาว 2–3 มม. แกนอับเรณูกว้าง เว้าด้านบน ดอกเพศเมียออกเดี่ยว ๆ หรือเป็นช่อสั้น ๆ มี 2–3 ดอก คล้ายดอกเพศผู้ ก้านดอกยาวกว่า รังไข่ใต้วงกลีบ ยอดเกสรเพศเมียจัก 3 พู ผลสด รูปรีหรือรูปขอบขนาน ยาว 2–6 ซม. สุกสีแดง มีหลายเมล็ด
พบที่อินเดีย อัฟกานิสถาน จีน พม่า ภูมิภาคอินโดจีน คาบสมุทรมลายู และชวา ในไทยพบทุกภาค ขึ้นตามที่แห้งแล้งหรือบนเขาหินปูน น้ำคั้นจากต้นแก้ปวดท้อง
สกุล Solena Lour. มี 3 ชนิด พบเฉพาะในเอเชีย ในไทยมีชนิดเดียว ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก “solen” หลอด ตามลักษณะดอก
|