สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

ตาเหิน

ตาเหินเชียงดาว
วันที่ 31 ตุลาคม 2559

Hedychium tomentosum Sirirugsa & K.Larsen

Zingiberaceae

ไม้ล้มลุก สูงประมาณ 60 ซม. ลิ้นกาบยาวประมาณ 1.5 ซม. มีขน ใบรูปขอบขนาน ยาว 15–25 ซม. แผ่นใบด้านล่างมีขนสั้นนุ่ม ไร้ก้านหรือมีก้านสั้น ๆ ก้านช่อดอกยาวประมาณ 7 ซม. แต่ละใบประดับมีดอกเดียว ใบประดับและใบประดับย่อยมีขนสั้นนุ่มหนาแน่น ใบประดับรูปขอบขนาน ยาวประมาณ 2.5 ซม. ใบประดับย่อยรูปใบหอก ยาวประมาณ 1 ซม. หลอดกลีบเลี้ยงยาวประมาณ 3 ซม. มีขนยาว ดอกสีครีมอมเหลือง หลอดกลีบดอกยาว 7–8 ซม. กลีบรูปแถบ ยาวประมาณ 2.5 ซม. กลีบปากยาวเท่า ๆ กลีบดอก แฉกลึก แผ่นเกสรเพศผู้ที่เป็นหมันรูปแถบ ยาวเท่า ๆ กลีบปาก ก้านชูอับเรณูยาวกว่ากลีบปาก ยาวประมาณ 2.8 ซม. อับเรณูยาวประมาณ 5 มม. รังไข่มีขนหนาแน่น

พืชถิ่นเดียวของไทย พบที่ดอยเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ขึ้นตามที่โล่งบนเขาหินปูน ความสูงประมาณ 2000 เมตร คล้ายกับชนิด H. griffithianum Wall. ที่แผ่นใบมีแถบต่อม และแผ่นใบด้านล่างไม่มีขนสั้นนุ่ม และอับเรณูยาวกว่า

ตาเหินเชียงดาว: หลอดกลีบเลี้ยง ใบประดับ และใบประดับย่อยมีขน กลีบปากแฉกลึก ก้านชูอับเรณูยาวกว่ากลีบปาก อับเรณูสั้น (ภาพ: วรดลต์ แจ่มจำรูญ)

ตาเหิน  สกุล
วันที่ 31 ตุลาคม 2559

Hedychium J.Koenig

Zingiberaceae

ไม้ล้มลุก บางครั้งขึ้นบนหิน หรืออิงอาศัย มีเหง้า ลิ้นกาบชัดเจน ใบเรียงสลับระนาบเดียว ช่อดอกแบบช่อเชิงลด ออกที่ยอด ตั้งขึ้น ใบประดับเรียงซ้อนเหลื่อม มีหนึ่งหรือหลายดอก ใบประดับย่อยเป็นหลอด กลีบเลี้ยงเชื่อมติดกันเป็นหลอด แยกจรดโคนด้านเดียว ปลายจัก 3 พู กลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดยาว มี 3 กลีบ กลีบข้างรูปแถบ พับงอกลับ กลีบปากเป็นแผ่นกว้าง ปลายแยก 2 แฉก มีก้านกลีบ แผ่นเกสรเพศผู้ที่เป็นหมันด้านข้างใหญ่กว่ากลีบดอก ก้านชูอับเรณูเรียวยาว อับเรณูติดด้านหลัง โคนกางออก ปลายแกนอับเรณูไม่มีรยางค์ รังไข่มี 3 ช่อง พลาเซนตารอบแกนร่วม ก้านเกสรเพศเมียรูปเส้นด้าย ผลแห้งแตกเป็น 3 ซีก เมล็ดจำนวนมาก มีเยื่อหุ้ม ขอบวิ่น

สกุล Hedychium อยู่ภายใต้วงศ์ย่อย Zingiberoideae มีประมาณ 50 ชนิด พบในมาดากัสการ์ เอเชียเขตร้อนและกึ่งเขตร้อน ในไทยมี 28–30 ชนิด หลายชนิดพบเป็นไม้ประดับ เช่น ข่าดง H. coccineum Buch.-Ham. ex Sm. ตาเหินไหว H. ellipticum Buch.-Ham. ex Sm. และมหาหงส์ H. coronarium J. Koenig เป็นต้น ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก “hedys” หอมหวาน และ “chion” หิมะ ตามลักษณะดอกสีขาวในบางชนิด และมีกลิ่นหอม

ตาเหินไหว: ดอกเรียงหนาแน่น ใบประดับสั้น ก้านชูอับเรณูยาวกว่ากลีบปาก (ภาพ: มานพ ผู้พัฒน์)

ตาเหิน
วันที่ 31 ตุลาคม 2559

Hedychium spicatum Sm.

Zingiberaceae

ไม้ล้มลุก สูงได้ถึง 1 ม. ลิ้นกาบยาว 1.5–2.5 ซม. มีขน ใบรูปใบหอก ยาว 10–40 ซม. แผ่นใบด้านล่างมีขนยาวประปรายตามเส้นกลางใบ ไร้ก้านหรือมีก้านสั้น ช่อดอกยาวได้ถึง 20 ซม. แต่ละใบประดับมีดอกเดียว มีขนสั้นนุ่ม ใบประดับรูปขอบขนาน ยาว 2–3 ซม. ใบประดับย่อยยาว 1–2 ซม. หลอดกลีบเลี้ยงยาว 2.5–3.5 ซม. ดอกสีขาวหรืออมเหลือง หลอดกลีบดอกยาว 6–8 ซม. มักมีปื้นสีม่วงอมแดง กลีบรูปแถบ ยาว 2.5–3.5 ซม. ปลายแยก 2 แฉก กลีบปากยาวเท่า ๆ กลีบดอก หรือยาวกว่าเล็กน้อย แผ่นเกสรเพศผู้ที่เป็นหมันรูปแถบ สั้นกว่ากลีบปากเล็กน้อย ก้านชูอับเรณูสั้นกว่ากลีบปาก อับเรณูยาวประมาณ 1.2 ซม. ผลกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง 1.5–2.5 ซม. เยื่อหุ้มเมล็ดสีขาว

พบที่อินเดีย ภูฏาน เนปาล จีนตอนใต้ พม่า และภาคเหนือของไทยที่ดอยสุเทพ และดอยเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ความสูง 1500–2000 เมตร บางครั้งแยกเป็น var. acuminatum (Roscoe) Wall. ที่ดอกไม่หนาแน่น

ตาเหิน: ช่อดอกแบบช่อเชิงลด ออกที่ยอด ตั้งขึ้น แต่ละใบประดับมีดอกเดียว ก้านชูอับเรณูสั้นกว่ากลีบปาก (ภาพ: ประทีป โรจนดิลก)



เอกสารอ้างอิง

Larsen, K. and S.S. Larsen. (2006). Gingers of Thailand. Queen Sirikit Botanic Garden. Chiang Mai.

Sabu, M. (2006). Zingiberaceae and Costaceae of South India. Kerala, India. Indian Association for Angiosperm Taxonomy, Calicut University.

Sirirugsa, P. (1995). The genus Hedychium (Zingiberaceae) in Thailand. Nordic Journal of Botany 15(3): 301–304.

Wu, D. and K. Larsen. (2000). Zingiberaceae. In Flora of China Vol. 24: 370–373.