สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

ตาลเหลือง

ตาลเหลือง
วันที่ 31 ตุลาคม 2559

Ochna integerrima (Lour.) Merr.

Ochnaceae

ไม้พุ่มหรือไม้ต้น สูงได้ถึง 12 ม. หูใบขนาดเล็ก ร่วงเร็ว ใบเรียงเวียน รูปขอบขนานถึงรูปใบหอก หรือแกมรูปไข่กลับ ยาว 6–25 ซม. ขอบจักฟันเลื่อย ก้านใบยาว 1–5 มม. ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนงสั้น ๆ ยาวได้ถึง 4 ซม. ก้านดอกยาว 2–4 ซม. ฐานดอกขยายในผล กลีบเลี้ยง 4 กลีบ รูปไข่แกมรูปขอบขนาน ยาว 1–1.6 ซม. ขยายในผล ดอกสีเหลือง มี 5–7 กลีบ รูปไข่กลับ ยาว 1.5–2.5 ซม. มีก้านกลีบ เกสรเพศผู้จำนวนมาก เรียง 2–3 วง ก้านชูอับเรณูยาว 3–7 มม. วงนอกยาวกว่าวงใน ติดทน มีสีแดงในผล อับเรณูรูปแถบยาว 4–6 ซม. มีช่องเปิดที่ปลาย มี 6–15 คาร์เพล ก้านเกสรเพศเมียยาว 1–1.5 ซม. มีโคนก้าน ยอดเกสรจักเป็นพูตื้น ๆ ผลย่อยแบบผนังชั้นในแข็ง มี 3–15 ผล ติดบนฐานดอกใกล้โคน รูปรี ยาวประมาณ 1 ซม. สุกสีดำ กลีบเลี้ยงติดทน สีแดง พับงอกลับ ยาวประมาณ 2 ซม.

พบที่อินเดีย ปากีสถาน พม่า ภูมิภาคอินโดจีน และคาบสมุทรมลายู ในไทยพบทุกภาค ขึ้นตามป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง และชายฝั่งทะเล ความสูงถึงประมาณ 1200 เมตร เปลือกและผลแก้โรคบิดถ่ายมีมูกเลือด

สกุล Ochna L. มี 85 ชนิด ส่วนใหญ่พบในแอฟริกา ในเอเชียมี 4 ชนิด ในไทยมีพืชพื้นเมืองชนิดเดียว และเป็นไม้ประดับอีก 1 ชนิด คือ มิกกี้เม้าส์ O. thomasiana Engl. & Gilg ซึ่งมักเข้าใจผิดว่าเป็น O. kirkii Oliv. มีถิ่นกำเนิดในแอฟริกา กลีบเลี้ยงและกลีบดอกจำนวนอย่างละ 5 กลีบ ก้านชูอับเรณูยาวประมาณกึ่งหนึ่งของอับเรณู ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก “ochne” แพร์ป่า ที่ใช้เรียกพืชสกุลนี้

ชื่อพ้อง  Elaeocarpus integerrimus Lour., Ochna harmandii Lecomte

ชื่ออื่น   กระแจะ (ระนอง); กระโดงแดง, กำลังช้างสาร (ภาคกลาง); ขมิ้นพระต้น (จันทบุรี); ควุ (กะเหรี่ยง-นครสวรรค์); แง่ง (บุรีรัมย์); ช้างน้าว (นครราชสีมา); ช้างโน้ม (ตราด); ช้างโหม (ระยอง); ตาชีบ้าง (กะเหรี่ยง-เชียงใหม่); ตานนกกรด (นครราชสีมา); ตาลเหลือง (ภาคเหนือ); ฝิ่น (ราชบุรี); โว้โร (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี)

ตาลเหลือง: ดอกออกเป็นช่อแบบช่อกระจุกแยกแขนงสั้น ๆ เกสรเพศผู้จำนวนมาก ผลย่อยติดบนฐานดอกที่ขยาย เกสรเพศผู้ติดทน สีแดง (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)



เอกสารอ้างอิง

Kanis, A. (1970). Ochnaceae. In Flora of Thailand Vol. 2(1): 25–26.