เฟินอิงอาศัย เหง้าอวบหนา เส้นผ่านศูนย์กลาง 1–2 ซม. กลวงเป็นที่อยู่ของมด มีเกล็ดสีน้ำตาลดำหนาแน่น ขนาดประมาณ 3 มม. ใบเรียงสลับ 2 แถว ห่าง ๆ 1.5–2 ซม. ช่วงต่อโคนก้านใบ (phyllopodia) ยาวประมาณ 5 มม. ก้านใบยาว 3–8 ซม. ช่วงบนเป็นปีกแคบ ใบรูปใบหอกหรือรูปแถบ ยาว 15–38 ซม. ใบไม่สร้างสปอร์กว้างประมาณ 3.5 ซม. ใบสร้างสปอร์เรียวแคบ ขอบใบเรียบหรือเป็นคลื่น เส้นกลางใบนูนสองด้าน เส้นแขนงใบแบบร่างแห กลุ่มอับสปอร์กลม เรียงเป็นแถวระหว่างเส้นกลางใบและขอบใบ เว้าเป็นแอ่งด้านล่าง นูนชัดเจนด้านบนแผ่นใบ เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3.5 มม.
พบที่กัมพูชา เวียดนาม คาบสมุทรมลายู สุมาตรา และหมู่เกาะโซโลมอน ในไทยพบแทบทุกภาค ยกเว้นภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เกาะบนต้นไม้ในป่าดิบแล้ง ป่าดิบชื้น หรือชายป่าพรุ ความสูงระดับต่ำ ๆ
สกุล Lecanopteris Reinw. เป็นกลุ่มเฟินรังมด มีประมาณ 13 ชนิด พบในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และนิวกินี ในไทยมี 3 ชนิด ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก “lekane” จาน และ “pteris” เฟิน ตามรูปร่างกลุ่มอับสปอร์
|
ชื่อพ้อง Polypodium sinuosum Wall. ex Hook., Myrmecophila sinuosa (Wall. ex Hook.) Nakai ex H.Ito
|
|
ชื่อสามัญ Ant fern
|
ชื่ออื่น ตาลมังกร (ภาคตะวันตกเฉียงใต้); ว่านนาคราช, ว่านเพชรหึง (ปราจีนบุรี)
|
|
ตาลมังกร: เฟินอิงอาศัย เหง้าอวบหนา ใบเรียงสลับ 2 แถว ห่าง ๆ มีช่วงต่อโคนก้านใบสั้น ๆ กลุ่มอับสปอร์กลมเรียงเป็นแถวระหว่างเส้นกลางใบและขอบใบ เว้าเป็นแอ่งด้านล่าง นูนด้านบน (ภาพ: ผาทิพย์ ช่วยเนียม)
|
|