| ตานดำ
| | | วันที่ 31 ตุลาคม 2559 |
| |
ไม้ต้น สูงได้ถึง 15 ม. กิ่งมีหนาม ใบรูปรี รูปขอบขนาน รูปไข่ หรือรูปไข่กลับ ยาว 2–12 ซม. แผ่นใบมีขนสั้นนุ่มทั้งสองด้าน เส้นแขนงใบข้างละ 3–7 เส้น ก้านใบยาว 0.2–1 ซม. ดอกเพศผู้ ก้านดอกยาวประมาณ 2 มม. กลีบเลี้ยงรูประฆัง ยาว 1–2 มม. มี 4 กลีบ แฉกลึกเกือบจรดโคน มีขนประปรายทั้งสองด้าน ดอกรูปคนโท ยาว 0.8–1 ซม. มี 4 กลีบ แฉกลึกเกินกึ่งหนึ่ง เกสรเพศผู้มี 14–20 อัน รังไข่ที่ไม่เจริญมีขนยาว ดอกเพศเมียออกเดี่ยว ๆ ก้านดอกยาวประมาณ 5 มม. รังไข่มี 8 ช่อง เกลี้ยง ก้านเกสรเพศเมีย 4 อัน เกสรเพศผู้ที่เป็นหมัน 4–12 อัน ผลกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง 1–3 ซม. กลีบเลี้ยงบานออกหรือพับงอกลับ ก้านผลยาว 5–7 มม. เอนโดสเปิร์มเรียบ (ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ มะเกลือ, สกุล)
พบที่อินเดีย พม่า ภูมิภาคอินโดจีนและมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ในไทยพบทุกภาค ขึ้นตามป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ และตามเขาหินปูนในป่าดิบชื้น ความสูงถึงประมาณ 600 เมตร ผลมีพิษใช้เบื่อปลา มีสรรพคุณเป็นยาสมาน ลดไข้ เปลือกแก้ปวดท้อง โรคบิด
| | | | ชื่ออื่น ดำดง (ประจวบคีรีขันธ์); ตานดำ, ตานส้าน (ภาคกลาง); ถ่านไฟผี (ภาคเหนือ); มะเกลือป่า (นครสวรรค์, ปราจีนบุรี); มะตูมดำ (สระบุรี); อิน (กาญจนบุรี)
| | ตานดำ: แผ่นใบมีขนสั้นนุ่มทั้งสองด้าน ดอกเพศเมียออกเดี่ยว ๆ กลีบเลี้ยงแฉกลึกเกือบจรดโคน พับงอกลับในผล (ภาพ: ปิยชาติ ไตรสารศรี, ราชันย์ ภู่มา)
|
|
|